พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ปฐมอัสสสูตร ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก ๓ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38773
อ่าน  404

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 578

ตติยปัณณาสก์

โยธาชีวรรคที่ ๔

๘. ปฐมอัสสสูตร

ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก ๓ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 578

๘. ปฐมอัสสสูตร

ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก ๓ จำพวก

[๕๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้ากระจอก ๓ และคนกระจอก ๓ จำพวก ท่านทั้งหลายจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสขยายความต่อไปว่า ม้ากระจอก ๓ เป็นอย่างไร คือ ม้ากระจอกลางตัวเป็นม้าฝีเท้าดี แต่สีไม่งาม ทรวดทรงไม่งาม ลางตัวฝีเท้าดี สีก็งาม แต่ทรวดทรงไม่งาม ลางตัวฝีเท้าก็ดี สีก็งาม ทรวดทรงก็งาม นี่ม้ากระจอก ๓

คนกระจอก ๓ เป็นอย่างไร? คือ คนกระจอกลางคนมีเชาวน์ดี แต่สีไม่งาม (คือ ไม่องอาจ) ทรวดทรงไม่งาม (คือ ความไม่สูงและใหญ่) ลางคนมีเชาวน์ดี สีก็งาม แต่ทรวดทรงไม่งาม ลางคนมีเชาวน์ดี สีก็งาม ทรวดทรงก็งาม

คนกระจอกมีเชาวน์ดี แต่สีไม่งาม ทรวดทรงไม่งาม เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เรากล่าวความรู้อริยสัจนี้ ในความมีเชาวน์ของเธอ แต่ภิกษุนั้นถูกถามปัญหาในอภิธรรมอภิวินัยแล้ว จนปัญญา แก้ปัญหาไม่ได้ เรากล่าวการที่ถูกถามปัญหาแล้ว จนปัญญา ไม่แก้ปัญหานี้ ในความมีสีไม่งามของเธอ อนึ่ง ภิกษุนั้นไม่ใคร่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... เรากล่าวความที่ไม่ใคร่ได้ปัจจัย ๔ นี้ ในความมีทรวดทรงไม่งามของเธอ คนกระจอก มีเชาวน์ดี แต่สีไม่งาม ทรวดทรงไม่งาม อย่างนี้แล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 579

คนกระจอกมีเชาวน์ดี สีงาม แต่ทรวดทรงไม่งาม เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ ที่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เรากล่าวความรู้อริยสัจนี้ ในความมีเชาวน์ของเธอ อนึ่ง ภิกษุนั้นถูกถามปัญหาในอภิธรรมอภิวินัยแล้ว แก้ปัญหาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวความที่ถูกถามปัญหาแล้ว แก้ปัญหาได้ ไม่จนปัญญานี้ ในความมีสีงามของเธอ แต่ภิกษุนั้นไม่ใคร่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... เรากล่าวความที่ไม่ใคร่ได้ปัจจัย ๔ นี้ ในความมีทรวดทรงไม่งามของเธอ คนกระจอกมีเชาวน์ดี สีงาม แต่ทรวดทรงไม่งาม อย่างนี้แล

คนกระจอกมีเชาวน์ดี สีก็งาม ทรวดทรงก็งาม เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เรากล่าวความรู้อริยสัจนี้ ในความมีเชาวน์ของเธอ อนึ่ง ภิกษุนั้นถูกถามในอภิธรรมอภิวินัยแล้ว แก้ปัญหาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวความที่ถูกถามปัญหาแล้ว แก้ปัญหาได้ ไม่จนปัญญานี้ ในความมีสีงามของเธอ อนึ่ง ภิกษุนั้นได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... (ไม่ขาดแคลน) เรากล่าวความที่ไม่ขาดแคลนปัจจัย ๔ นี้ ในความมีทรวดทรงงามของเธอ คนกระจอกมีเชาวน์ดี สีก็งาม ทรวดทรงก็งาม อย่างนี้แล.

นี้ ภิกษุทั้งหลาย คนกระจอก ๓ จำพวก.

จบปฐมอัสสสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 580

อรรถกถาปฐมอัสสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอัสสสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อสฺสขลุํโก ได้แก่ พันธ์ม้า (กระจอก). บทว่า อิทมสฺส ชวสฺมึ วทามิ ความว่า เราตถาคตกล่าวว่า นี้เป็นความเร็ว คือ ญาณของภิกษุนั้น. บทว่า อิทมสฺส วณฺณสฺมึ วทามิ ความว่า เราตถาคตกล่าวว่า นี้เป็นสี คือ คุณความดีของภิกษุนั้น. บทว่า อิทมสฺส อาโรหปริณาหมสฺมึ ความว่า เราตถาคตกล่าวว่า นี้เป็นความสูง ความสง่างาม ของภิกษุนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาปฐมอัสสสูตรที่ ๘