พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปฐมขตสูตร ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38793
อ่าน  403

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 6

ปฐมปัณณาสก์

ภัณฑคามวรรคที่ ๑

๓. ปฐมขตสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 6

๓.ปฐมขตสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต

[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือ ความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ชมคนที่ควรติ ๑ ติคนที่ควรชม ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะ อันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนพาล ฯลฯ และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต เป็นคนฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้หาโทษมิได้ ผู้รู้สรรเสริญ และได้บุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือบุคคลใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ติคนที่ควรติ ชมคนที่ควรชม ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะ อันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นบัณฑิต ฯลฯ และได้บุญมากด้วย

(นิคมคาถา)

ผู้ใดชมคนที่ควรติ หรือติคนที่ควรชม ผู้นั้น ชื่อว่าก่อ (กลี) ความร้ายด้วยปาก เพราะความร้ายนั้น เขาก็ไม่ได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 7

ความสุข นี่ ร้ายไม่มาก คือการเสียทรัพย์ในการพนัน แม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว สิ่งนี้สิ ร้ายมากกว่า คือทำใจร้าย ในท่านผู้ดำเนินดีแล้วทั้งหลาย คนที่ตั้งใจและใช้วาจาลามก ติเตียนท่านผู้เป็นอริยะ ย่อมตกนรกตลอดเวลา สิ้นแสนสามสิบหก นิรัพพุทะ กับอีกห้าอัพพุทะ.

จบปฐมขตสูตรที่ ๓

อรรถกถาปฐมขตสูตร

ปฐมขตสูตรที่ ๓ กล่าวไว้ในอรรถกถาทุกนิบาตแล้ว. ส่วนในคาถา พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ บทว่า นินฺทิยํ ได้แก่ผู้ควรนินทา. บทว่า นินฺทติ ได้แก่ ย่อมติเตียน. บทว่า ปสํสิโย ได้แก่ ผู้ควรสรรเสริญ. บทว่า วิจินาติ มุเขน โส กลึ ความว่า ผู้นั้นประพฤติอย่างนี้แล้ว ชื่อว่า ย่อมเฟ้นโทษด้วยปากนั้น. บทว่า กลินา เตน สุขํ น วินฺทติ ความว่า เขาย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น. บทว่า สพฺพสฺสาปิ สหาปิ อตฺตนา ความว่า การแพ้พนัน เสียทั้งทรัพย์ของตนทุกสิ่ง กับทั้งตัวเอง (สิ้นเนื้อประดาตัว) ชื่อว่าเป็นโทษประมาณน้อยนัก. บทว่า โย สุคเตสุ ความว่า ส่วนผู้ใดพึงทำจิตคิดประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลาย ผู้ดำเนินไปโดยชอบแล้ว ความมีจิตคิดประทุษร้ายของผู้นั้นนี้แล มีโทษมากกว่าโทษนั้น. บัดนี้ เมื่อ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 8

ทรงแสดงความที่มีจิตคิดประทุษร้ายนั้นมีโทษมากกว่า จึงตรัสคำว่า สตํ สหสฺสานํ เป็นอาทิ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ สหสฺสานํ ได้แก่ สิ้นแสน โดยการนับ ตามนิรัพพุทะ. บทว่า ฉตฺตึสติ ได้แก่ อีกสามสิบหก นิรัพพุทะ. บทว่า ปญฺจ จ คือห้าอัพพุทโดยการนับตามอัพพุทะ. บทว่า ยมริยํ ครหิ ความว่า บุคคลเมื่อติเตียนพระอริยะทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงนรกใดในนรกนั้น ประมาณอายุมีเท่านี้.

จบอรรถกถาปฐมขตสูตรที่ ๓