๕. อนุโสตสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ ปรากฏในโลก
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 10
ปฐมปัณณาสก์
ภัณฑคามวรรคที่ ๑
๕. อนุโสตสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๔ ปรากฏในโลก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 10
๕. อนุโสตสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๔ ปรากฏในโลก
[๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ คือใคร คือบุคคลไปตามกระแส ๑ บุคคลไปทวนกระแส ๑ บุคคลตั้งตัวได้แล้ว (ไม่ตามและไม่ทวนกระแส) ๑ บุคคลข้ามถึงฝั่งขึ้นอยู่บนบกเป็น พราหมณ์ ๑
บุคคลไปตามกระแส เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้เสพกามด้วย ทำบาปกรรมด้วย นี้เรียกว่า บุคคลไปตามกระแส.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 11
บุคคลไปทวนกระแส เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เสพกาม และไม่ทำบาปกรรม แม้ทั้งทุกข์กายทั้งทุกข์ใจ กระทั่งร้องไห้ น้ำตานองหน้า ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์อยู่ได้ นี้เรียกว่า บุคคล ไปทวนกระแส.
บุคคลตั้งตัวได้แล้ว เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้เรียกว่า บุคคลตั้งตัวได้แล้ว.
บุคคลข้ามถึงฝั่งขึ้นบนบกเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้ นี้เรียก ว่า บุคคลข้ามถึงฝั่งขึ้นอยู่บนบกเป็นพราหมณ์.
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคล ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก.
(นิคมคาถา)
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่สำรวมในกาม ยังไม่สิ้นราคะ เป็นกามโภคี ในโลกนี้ ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ผู้ไปตามกระแส ถูกตัณหาครอบงำไว้ ต้องเกิดและแก่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นแหละ ผู้เป็นปราชญ์ ในโลกนี้ ตั้งสติ ไม่เสพกามและไม่ทำบาป แม้ทั้งทุกข์กายใจ ก็ละกามและบาปได้ ท่านเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้ไปทวนกระแส
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 12
คนใดละกิเลส ๕ ประการ (คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ) ได้แล้ว เป็นพระเสขะบริบูรณ์ มีอันไม่เสื่อมคลายเป็นธรรมดา ได้วสีทางใจ มีอินทรีย์อันมั่นคง คนนั้นท่านเรียกว่า ผู้ตั้งตัวได้แล้ว เพราะได้ตรัสรู้แล้ว ธรรมทั้งหลายทั้งยิ่งและหย่อนของบุคคลใด สิ้นไปดับไป ไม่มีอยู่ บุคคลนั้น เป็นผู้บรรลุซึ่งยอดความรู้ สำเร็จพรหมจรรย์ ถึงที่สุดโลก เรียกว่าผู้ถึงฝั่งแล้ว.
จบอนุโสตสูตรที่ ๕
อรรถกถาอนุโสตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอนุโสตสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บุคคลชื่อว่า อนุโสตคามี เพราะไปตามกระแส. ชื่อว่าปฏิโสตคามี เพราะไปทวนกระแสของกระแสคือกิเลส โดยการปฏิบัติที่เป็นข้าศึก. บทว่า ิตตฺโต คือมีภาวะตั้งตนได้แล้ว. บทว่า ติณฺโณ ได้แก่ ข้ามโอฆะตั้งอยู่แล้ว. บทว่า ปารคโต ได้แก่ ถึงฝั่งอื่น. บทว่า ถเล ติฏฺติ ได้แก่ อยู่บนบก คือนิพพาน. บทว่า พฺราหฺมโณ ได้แก่ เป็นผู้ประเสริฐ หาโทษมิได้. บทว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้. บทว่า กาเม จ ปฏิเสวติ ได้แก่ ส้องเสพวัตถุกามด้วยกิเลสกาม. บทว่า ปาปญฺจ กมฺมํ กโรติ ได้แก่
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 13
ย่อมทำกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น อันเป็นบาป. บทว่า ปาปญฺจ กมฺมํ น กโรติ ได้แก่ ไม่ทำกรรมคือเวร ๕. บทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ิตตฺโต ความว่า อนาคามีบุคคลนี้ ชื่อว่า ตั้งตนได้แล้ว ด้วยอำนาจการไม่กลับมาจากโลกนั้น โดยถือปฏิสนธิอีก.
บทว่า ตณฺหาธิปนฺนา ความว่า เหล่าชนที่ถูกตัณหางำ คือครอบไว้หรือเข้าถึง คือหยั่งลงสู่ตัณหา. บทว่า ปริปุณฺณเสกฺโข ได้แก่ ตั้งอยู่ในความบริบูรณ์ด้วยสิกขา. บทว่า อปริหานธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่เสื่อมเป็นสภาวะ. บทว่า เจโตวสิปฺปตฺโต ได้แก่ เป็นผู้ชำนาญทางจิต. บุคคลเห็นปานนี้ ย่อมเป็นพระขีณาสพ. แต่ในข้อนี้ ตรัสแต่อนาคามีบุคคล. บทว่า สมาหิตินฺทฺริโย ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์หกมั่นคงแล้ว. บทว่า ปโรปรา ได้แก่ ธรรมอย่างสูงและอย่างเลว อธิบายว่า กุศลธรรมและอกุศลธรรม. บทว่า สเมจฺจ ได้แก่ มาพร้อมกันด้วยญาณ. บทว่า วิธูปิตา ได้แก่ อันท่านกำจัดหรือเผาเสียแล้ว. บทว่า วุสิตพฺรหฺมจริโย ความว่า อยู่จบมรรคพรหมจรรย์. บทว่า โลกนฺตคู ความว่า ถึงที่สุดแห่งโลกทั้งสาม. บทว่า ปารคโต ความว่า ผู้ถึงฝั่งด้วยอาการ ๖. ในข้อนี้ตรัสแต่พระขีณาสพเท่านั้น แต่วัฏฏะและวิวัฏฏะ (โลกิยะและโลกุตระ) ตรัสไว้ทั้งในพระสูตร ทั้งในคาถา ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถาอนุโสตสูตรที่ ๕