พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เวสารัชชสูตร ว่าด้วยเวสารัชชญาณของตถาคต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38798
อ่าน  422

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 19

ปฐมปัณณาสก์

ภัณฑคามวรรคที่ ๑

๘. เวสารัชชสูตร

ว่าด้วยเวสารัชชญาณของตถาคต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 19

๘. เวสารัชชสูตร

ว่าด้วยเวสารัชชญาณของตถาคต

[๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวสารัชชญาณ (ญาณเป็นเหาตุให้กล้าหาญ) ของตถาคต ๔ นี้ ตถาคตประกอบด้วยเวสารัชชญาณเหล่าไรเล่า จึงปฏิญญาฐานผู้เป็นโจก เปล่งสิงหนาทในบริษัททั้งหลาย ประกาศพรหมจักร เวสารัชชญาณคืออะไรบ้าง คือเราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราได้โดยชอบแก่เหตุ ในข้อว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 20

๑. ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ แต่ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้แล้ว

๒. ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ แต่อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นแล้ว

๓. ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง

๔. ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม

เมื่อไม่เห็นนิมิตอันนี้เสียเลย เราจึงโปร่งใจ จึงไม่ครั่นคร้าม จึงกล้าหาญ

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ตถาคตประกอบด้วยเวสารัชชญาณเหล่าไรเล่า จึงปฏิญญาฐานผู้เป็นโจก เปล่งสิงหนาทในบริษัททั้งหลาย ประกาศพรหมจักร

ถ้อยความ ที่ผูกแต่งขึ้นเป็นอันมากทุกชนิด และสมณพราหมณ์ทั้งหลายอาศัย วาทะใด วาทะนั้น มาถึงตถาคตผู้แกล้วกล้า ผู้ย่ำยีเสียซึ่งวาทะแล้ว ย่อมพ่ายไป ท่านผู้ใดครอบงำเสียซึ่งวาทะและสมณพราหมณ์ทั้งสิ้น มีความเอ็นดูในสรรพสัตว์ ประกาศธรรมจักร สัตว์ทั้งหลายย่อมกราบไหว้ ท่านผู้เช่นนั้น ผู้ประเสริฐแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้ถึงฝั่งแห่งภพ.

จบเวสารัชชสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 21

อรรถกถาเวสารัชชสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเวสารัชชสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า เวสารชฺชานิ นี้ ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความขลาดชื่อว่า เวสารัชชะ ญาณเป็นเหตุให้กล้าหาญ. เวสารัชชะนี้ เป็นชื่อของโสมนัสญาณที่เกิดขึ้นแก่ตถาคต ผู้พิจารณาเห็นความไม่มีความขลาดใน ฐานะ ๔. บทว่า อาสภณฺานํ ความว่า ฐานะอันประเสริฐ คือฐานะสูงสุด. หรือพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลายเป็นผู้องอาจ ฐานะของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น. อีกนัยหนึ่ง โคจ่าฝูงของโคร้อยตัว ชื่อว่า อุสภะ โคจ่าฝูง ของโคหนึ่งพันตัว ชื่อว่าวสภะ หรือโคอุสภะ เป็นหัวโจกโคร้อยคอก โควสภะเป็นหัวโจกโคพันคอก โคนิสภะประเสริฐสุดแห่งใดทั้งหมด อดทนต่ออันตรายทุกอย่าง เผือก น่ารัก ขนภาระไปได้มาก ทั้งไม่หวั่นไหวด้วยเสียงฟ้าร้องร้อยครั้ง พันครั้ง โคนิสภะนั้น ท่านประสงค์ว่า โคอุสภะในที่นี้ นี้เป็นคำเรียกโคอุสภะนั้นโดยปริยาย. ที่ชื่อว่าอาสภะ เพราะฐานะนี้เป็นของโคอุสภะ. บทว่า านํ ได้แก่ การเอาเท้าทั้ง ๔ ตะกุยแผ่นดินยืนหยัด. ก็ฐานะนี้ ชื่อว่าอาสภะ เพราะเหมือนการยืนหยัดของโคอุสภะ. โคอุสภะที่นับว่า โคนิสภะ เอาเท้า ๔ เท้าตะกุยแผ่นดินแล้ว ยืนหยัดโดยยืนไม่หวั่นไหวฉันใด ตถาคตก็ตะกุยแผ่นดินคือบริษัท ๘ ด้วยพระบาทคือเวสารัชชญาณ ๔ ไม่หวั่นไหวด้วยข้าศึกปัจจามิตรไรๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ยืนหยัดโดยยืนไม่หวั่นไหวก็ฉันนั้น. ตถาคตเมื่อยืนหยัดอยู่อย่างนี้ จึงปฏิญญาฐานของผู้องอาจ เข้าถึง ไม่บอกคืน กลับยกขึ้นไว้ในพระองค์ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า อาสภณฺานํ ปฏิชานาติ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 22

บทว่า ปริสาสุ ได้แก่ ในบริษัททั้ง ๘. บทว่า สีหนาทํ นทติ ความว่า เปล่งเสียงแสดงอำนาจอันประเสริฐสุด เสียงแสดงอำนาจของราชสีห์ หรือบันลือเสียงแสดงอำนาจเสมือนการแผดเสียงของราชสีห์. ความข้อนี้พึงแสดงด้วยสีหนาทสูตร. ราชสีห์ เขาเรียกว่า สีหะ เพราะอดทนและเพราะล่าเหยื่อ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้น เขาเรียกว่า สีหะ เพราะทรงอดทนโลกธรรมทั้งหลาย และเพราะทรงกำจัดลัทธิอื่น. การบันลือของสีหะที่ท่านกล่าวอย่างนี้ เรียกว่า สีหนาท. ในสีหนาทนั้น ราชสีห์ประกอบด้วยกำลังของราชสีห์กล้าหาญในที่ทั้งปวง ปราศจากขนชูชัน บันลือสีหนาทฉันใด สีหะ คือ ตถาคตก็ฉันนั้น ประกอบด้วยกำลังของตถาคต เป็นผู้กล้าหาญในบริษัททั้ง ๘ ปราศจากขนพอง ย่อมบันลือสีหนาท อันประกอบด้วยความงดงามแห่งเทศนามีอย่างต่างๆ โดยนัยเป็นอาทิว่า อย่างนี้รูป. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปริสาสุ สีหนาทํ นทติ ดังนี้.

บทว่า พฺรหฺมํ ในบทว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ นี้ ได้แก่ จักรอันประเสริฐสูงสุดหมดจด. ก็จักกศัพท์นี้

ย่อมใช้ในอรรถว่าสมบัติ ลักษณะส่วนแห่งรถ อิริยาบถ ทาน รตนจักร ธรรมจักร และอุรจักรเป็นต้น ในที่นี้ รู้กันว่า ใช้ในอรรถว่า ธรรมจักร พึงทำ ธรรมจักรให้ชัดแจ้ง แบ่งเป็นสองประการ.

จริงอยู่ จักกศัพท์นี้ย่อมใช้ในอรรถว่า สมบัติ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า จตฺตาริมานิ ภิกฺขเว จกฺกานิ เยหิ สมนฺนาคตานํ เทวมนุสฺสานํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๔ ที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกอบพร้อมแล้ว ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า ลักษณะ ได้ในบาลีนี้ว่า ปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 23

ลักษณะเกิดบนฝ่าพระบาท ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า อิริยาบถ ได้ในบาลีนี้ว่า จตุจกฺกํ นวทฺวารํ มีอิริยาบถ ๔ มีทวาร ๙ ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า ทาน ได้ในบาลีนี้ ทท ภุญฺช จ มา จ ปมาโท จกฺกํ วตฺตย สพฺพปาณีนํ ท่านจงให้ จงบริโภค และจงอย่าประมาท จงให้ทานเป็นไปแก่สรรพสัตว์ ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า รตนจักร ได้ในบาลีนี้ว่า ทิพฺพํ รตนจกฺกํ ปาตุรโหสิ จักรรัตน์ที่เป็นทิพย์ได้ปรากฏแล้ว ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า ธรรมจักร ได้ในบาลีนี้ว่า มยา ปวตฺติตํ จกฺกํ ธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้วดังนี้. ใช้ใน อรรถว่า อุรจักร ได้ในบาลีนี้ว่า อุรจักร กงจักรหมุนอยู่บนกระหม่อมของคนผู้ถูกความอยากครองงำ ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า ปหรณจักร เครื่องประหาร ได้ในบาลีนี้ว่า ขุรปริยนฺเตน เจปิ จกฺเกน. ถ้าประหารด้วยจักรมีคมรอบๆ ดังนี้. ใช้ในอรรถว่า อสนิมัณฑละ คือ วงกลมแห่งสายฟ้า ได้ในบาลีนี้ว่า อสนิจกฺกํ วงกลมแห่งสายฟ้าดังนี้. แต่จักกศัพท์นี้ ในที่นี้รู้กันว่า ใช้ใน อรรถว่า ธรรมจักร.

ก็ธรรมจักรนี้นั้นมี ๒ คือ ปฏิเวธญาณ ๑ เทศนาญาณ ๑. บรรดาธรรมจักร ๒ นั้น ญาณที่ปัญญาอบรม นำอริยผลมาให้ตนเอง ชื่อว่า ปฏิเวธญาณ. ญาณที่กรุณาอบรม นำอริยผลมาให้สาวกทั้งหลาย ชื่อว่า เทศนาญาณ. บรรดาญาณ ๒ อย่างนั้น ปฏิเวธญาณมี ๒ คือ ที่กำลังเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว. ก็ปฏิเวธญาณนั้น ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้นนับแต่ทรงออก ผนวชจนถึงอรหัตตมรรค ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้วในขณะแห่งอรหัตตผล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้นนับแต่ภพชั้นดุสิต จนถึงอรหัตตมรรค ณ มหาโพธิบัลลังก์ ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้วในขณะแห่งอรหัตตผล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้น นับแต่ครั้งพระทีปังกรพุทธเจ้า จนถึงอรหัตตมรรค ณ โพธิบัลลังก์ ชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 24

เกิดขึ้นแล้วในขณะแห่งอรหัตตผล. เทศนาญาณก็มี ๒ คือที่กำลังเป็นไปที่เป็นไปแล้ว. ก็เทศนาญาณนั้น ชื่อว่ากำลังเป็นไปจนถึงโสดาปัตติมรรคของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อว่าเป็นไปแล้วในขณะแห่งโสดาปัตติผล. บรรดาญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณ เป็นโลกุตระ เทศนาญาณเป็นโลกิยะ. ก็ญาณทั้งสองนั้น ไม่ทั่วไปกับสาวกเหล่าอื่นเป็นโอรสญาณทำให้เกิดโอรสคือสาวก สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น.

บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส เต ปฏิชานโต ความว่า ท่านปฏิญญาอย่างนี้ว่า เราเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเราได้ตรัสรู้ แล้วดังนี้. บทว่า อนภิสมฺพุทฺธา ความว่า ธรรมทั้งหลาย ชื่อเหล่านี้ ท่านยังไม่รู้แล้ว. บทว่า ตตฺร วต คือในธรรมที่ท่านแสดงเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อนภิสมฺพุทฺธา. บทว่า สหธมฺเมน ได้แก่ด้วยถ้อยคำพร้อมด้วยเหตุด้วยการณ์. บุคคลก็ดี ธรรมก็ดี ท่านประสงค์ว่านิมิตในบทว่า นิมิตฺตเมตํ นี้. ในข้อนี้มีใจความดังนี้ว่า บุคคลใดจะทักท้วงเรา เราก็ยังไม่เป็นบุคคลนั้น บุคคลแสดงธรรมใดแล้ว จักทักท้วงเราว่า ธรรมชื่อนี้ ท่านยังไม่รู้แล้วดังนี้ เราก็ยังไม่เห็นธรรมนั้น. บทว่า เขมปฺปตฺโต ได้แก่ถึงความเกษม. สองบทที่เหลือ ก็เป็นไวพจน์ของบทนี้นั้นเอง. คำนั้นทั้งหมดตรัสมุ่งถึงเวสารัชชญาณอย่างเดียว. ด้วยว่าพระทศพลเมื่อไม่ทรงเห็นบุคคลที่ทักท้วง หรือธรรมที่ยังไม่รู้ ที่เป็นเหตุทักท้วงว่า ธรรมชื่อนี้ ท่านยังไม่รู้แล้วดังนี้ พิจารณาเห็นว่า เราตรัสรู้ตามความเป็นจริงแล้ว จึงกล่าวว่าเราเป็นพุทธะดังนี้ จึงเกิดโสมนัสที่มีกำลังกว่า ญาณที่ประกอบด้วยโสมนัสนั้นชื่อว่าเวสารัชชะ. ทรงหมายถึง เวสารัชชญาณนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เขมปฺปตฺโต ดังนี้. ในบททุกบท พึงทราบเนื้อความอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 25

ก็ในบทว่า อนฺตรายิกา ธมฺมา นี้ ชื่อว่าอันตรายิกธรรม เพราะทำอันตราย. อันตรายิกธรรมเหล่านั้น โดยใจความก็ได้แก่อาบัติ ๗ กอง ที่จงใจล่วงละเมิด. ความจริงโทษที่จงใจล่วงละเมิด โดยที่สุดแม้อาบัติทุกกฏและทุพภาสิต ก็ย่อมทำอันตรายแก่มรรคและผลได้. แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาเมถุนธรรม ด้วยว่าเมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรม ย่อมเป็นอันตรายต่อมรรคและผลถ่ายเดียว. บทว่า ยสฺส โข ปน เต อตฺถาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ธรรมอันใดในบรรดาธรรมเป็นที่สิ้นราคะเป็นต้น. บทว่า ธมฺโม เทสิโต ความว่า ท่านกล่าวธรรมมีอสุภภาวนาเป็นต้น. บทว่า ตตฺร วต มํ คือในธรรมที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์นั้น. บทที่เหลือ พึงทราบ โดยนัยอันกล่าวไว้ในวินัย.

บทว่า วาทปถา คือ วาทะทั้งหลายนั่นเอง. บทว่า ปุถุ แปลว่า มาก บทว่า สิตา คือที่ผูกแต่งเป็นปัญหาขึ้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปุถุสฺสิตา ได้แก่ วาทะที่เตรียมคือจัดไว้มาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปุถุสฺสิตา เพราะสมณพราหมณ์เป็นอันมากผูกไว้. บทว่า ยํ นิสฺสิตา ความว่า แม้บัดนี้สมณพราหมณ์อาศัยคลองวาทะใด. บทว่า น เต ภวนฺติ ความว่า คลองวาทะเหล่านั้นย่อมไม่มี คือแตกพินาศไป. บทว่า ธมฺมจกฺกํ นั้น เป็นชื่อของเทศนาญาณก็มี ปฏิเวธญาณก็มี. บรรดาญาณทั้งสองนั้น เทศนาญาณเป็นโลกิยะ ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตระ. บทว่า เกวลี ได้แก่ ทรงถึงพร้อมด้วยโลกุตระสิ้นเชิง. บทว่า ตาทิสํ คือท่านผู้เป็นอย่างนั้น.

จบอรรถกถาเวสารัชชสูตรที่ ๘