พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ตัณหาสูตร ว่าด้วยที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38799
อ่าน  372

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 26

ปฐมปัณณาสก์

ภัณฑคามวรรคที่ ๑

๙. ตัณหาสูตร

ว่าด้วยที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 26

๙. ตัณหาสูตร

ว่าด้วยที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง

[๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่เกิดตัณหา ๔ อย่างนี้ ที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง คืออะไร คือ ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะจีวรบ้าง เพราะบิณฑบาตบ้าง เพราะเสนาสนะบ้าง เพราะความมีน้อยมีมากอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง นี้แล ที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง

คนมีตัณหาเป็นเพื่อน เวียนว่ายไปเป็นอย่างนี้อย่างนั้นสิ้นกาลนาน ไม่ล่วงพ้นสงสารไปได้ ภิกษุรู้โทษอันนี้แล้ว รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุเกิดทุกข์ ก็จะพึงเป็นผู้มีสติ สิ้นตัณหา ไม่มีความยึดถือไป.

จบตัณหาสูตรที่ ๙

อรรถกถาตัณหาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในตัณหาสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

ชื่อว่า อุปปาทะ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งตัณหาเหล่านั้น. ถามว่าอะไรเกิด. ตอบว่า ตัณหา. ความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ชื่อว่า ตัณหุปปาทะ อธิบายว่า วัตถุแห่งตัณหา เหตุแห่งตัณหา. บทว่า จีวรเหตุ ความว่า ตัณหาย่อมเกิดเพราะมีจีวรเป็นเหตุ ว่าเราจักได้จีวรที่น่าชอบใจในที่ไหน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 27

ศัพท์ว่า อิติ ในบทว่า อิติภวาภวเหตุ นี้เป็นนิบาตลงในอรรถว่าตัวอย่าง อธิบายว่า ตัณหาย่อมเกิดขึ้นเพราะความมีน้อยมีมากเป็นเหตุ เหมือนที่เกิดขึ้น เพราะมีจีวรเป็นต้น เป็นเหตุ ส่วนในบทว่า ภวาภโว นี้ประสงค์เอาเนยใส และเนยข้นเป็นต้นที่ประณีตและประณีตกว่ากัน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่าภพที่ประณีตกว่าและประณีตที่สุดในสัมปัตติภพดังนี้ก็มี.

บทว่า ตณฺหาทุติโย ความว่า ก็สัตว์นี้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ ที่ตัวสัตว์เองไม่รู้จุดจบ มิใช่ท่องเที่ยวไปแต่ลำพังเท่านั้น ยังได้ตัณหาเป็นเพื่อนท่องเที่ยวไปด้วย ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ตณฺหาทุติโย ดังนี้. ในบทว่า อิตฺถภาวญฺถาภาวํ นี้ได้แก่อัตภาพนี้ ชื่อว่า อิตถภาวะเป็นอย่างนี้ อัตภาพในอนาคต ชื่อว่าอัญญถาภาวะเป็นอย่างอื่น อีกอย่างหนึ่ง อัตภาพแม้อื่นที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่า อิตถภาวะเป็นอย่างนี้ ที่มิใช่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าอัญญถาภาวะ เป็นอย่างอื่น. ซึ่งเป็นอย่างนี้และอย่างอื่น. บทว่า สํสารํ ได้แก่ลำดับขันธ์ ธาตุ อายตนะ. บทว่า นาติวตฺตติ แปลว่า ไม่ล่วงพ้นไป. บทว่า เอตมาทีนวํ ตฺวา ความว่า ภิกษุรู้ถึงโทษในขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันอย่างนี้ แล้ว. บทว่า ตณฺหํ ทุกฺขสฺส สมฺภวํ ความว่า รู้ถึงตัณหาอย่างนี้ว่าตัณหานี้ เป็นเหตุเกิด เป็นแดงเกิด เป็นเหตุแห่งวัฏทุกข์. ความที่ภิกษุนี้ เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ทรงแสดงด้วยเหตุประมาณเท่านี้. บัดนี้ เมื่อทรงยกย่องภิกษุขีณาสพนั้น จึงตรัสว่า วิตฺตณฺโห เป็นอาทิ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาทาโน ได้แก่ ไม่ถือมั่น. บทว่า สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช ความว่า ภิกษุผู้ขีณาสพถึงความไพบูลย์ด้วยสติสัมปชัญญะ พึงมีสติสัมปชัญญะเที่ยวไปอยู่. ดังนั้น ในสูตรตรัสถึงวัฏฏะ ในคาถา ตรัสทั้งวัฏฏะ ทั้งวิวัฏฏะ (โลกิยะและโลกุตระ) ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาตัณหาสูตรที่ ๙