พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. จารสูตร ว่าด้วยภิกษุไม่ละวิตก ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38801
อ่าน  335

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 34

ปฐมปัณณาสก์

จรวรรคที่ ๒

๑. จารสูตร

ว่าด้วยภิกษุไม่ละวิตก ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 34

จรวรรคที่ ๒

๑. จารสูตร

ว่าด้วยภิกษุไม่ละวิตก ๓ อย่าง

[๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี กามวิตก หรือ พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น และภิกษุรับเอาวิตกนั้นไว้ ไม่ละ ไม่ถ่ายถอน ไม่ทำให้สิ้นให้หายไปเสีย ภิกษุเดินอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี ยืนอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นั่งอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นอนอยู่ ไม่หลับเป็นอย่างนี้ก็ดี เราเรียกว่า ผู้ไม่มีอาตาปะ (ความเพียรอันแรงกล้า) ไม่มีโอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวบาป) เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียร อันทรามอยู่เนืองนิตย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับก็ดี กามวิตกหรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น แต่ภิกษุไม่รับเอาวิตกนั้นไว้ ละเสียถ่ายถอนเสีย ทำให้สิ้นให้หายไปเสีย ภิกษุเดินอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี ยืนอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นั่งอยู่เป็นอย่างนี้ก็ดี นอนอยู่ไม่หลับเป็นอย่างนี้ก็ดี เราเรียกว่า ผู้มีอาตาปะ มีโอตตัปปะ มีความเพียร อันทำแล้ว ตั้งใจมั่นคงเป็นเนืองนิตย์

ภิกษุใดเดินอยู่ หรือยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ (ไม่หลับ) ตรึกวิตกอันเป็นบาป อันเกี่ยวด้วยเรือน (คือกาม) ภิกษุนั้นชื่อว่าดำเนินทางผิด สยบอยู่ในอารมณ์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 35

อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ภิกษุเช่นนั้น ไม่ควรเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม. ภิกษุใดเดินอยู่หรือยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ รำงับวิตก (อันเป็นบาป) ยินดีในทางรำงับวิตกแล้ว ภิกษุเช่นนั้น ย่อมอาจเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม.

จบจารสูตรที่ ๑

จรวรรควรรณนาที่ ๒

อรรถกถาจารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจารสูตรที่ ๑ แห่งจรวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อธิวาเสติ ได้แก่ ยกขึ้นไว้ให้อยู่ในจิต (คือพักไว้). บทว่า น ปชหติ ได้แก่ ไม่สละ. บทว่า น วิโนเทติ ได้แก่ ไม่นำออก. บทว่า น พฺยนฺตีกโรติ ได้แก่ ไม่ทำให้สิ้นสุด คือตัดหนทาง. บทว่า น อนภาวํ คเมติ ได้แก่ ไม่ทำให้ถึงความไม่มีไม่เจริญ คือ ย่อยยับไป. บทว่า จรมฺปิ คือ แม้เดินอยู่. บทว่า อนาตาปิ คือ ไม่มีความเพียร. บทว่า อโนตฺตาปิ คือ เว้นจากความกลัวการตำหนิติเตียน. บทว่า สตตํ คือ เป็นนิตย์. บทว่า สมิตํ คือ ไม่มีระหว่าง. ผู้ศึกษาทราบความในทุกบทอย่างนั้นแล้ว พึงทราบความตามปริยายที่กล่าวไว้แล้วในสุกกปักษ์ฝ่ายธรรมขาว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 36

ในคาถา พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ บทว่า เคหนิสฺสิตํ ได้แก่ อาศัยกิเลส. บทว่า โมหเนยฺเยสุ ได้แก่ ในอารมณ์ที่ให้เกิดความหลง. บทว่า อภพฺโพ ได้แก่ไม่เป็นดังภาชนะที่รองรับ. บทว่า ผุฏฺํ สมฺโพธิ มุตฺตมํ ได้แก่ เพื่อสัมผัสอุดมญาณกล่าวคือ พระอรหัต.

จบอรรถกถาจารสูตรที่ ๑