พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปธานสูตร ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38803
อ่าน  331

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 39

ปฐมปัณณาสก์

จรวรรคที่ ๒

๓. ปธานสูตร

ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 39

๓. ปธานสูตร

ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔

[๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ๔ นี้ สัมมัปปธาน ๔ คืออะไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

๑. ยังฉันทะให้เกิดพยายามทำความเพียร ประคองจิตตั้งใจมั่นเพื่อยังอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น

๒. ยังฉันทะให้เกิดพยายามทำความเพียร ประคองจิตตั้งใจมั่นเพื่อละอกุศลบาปธรรมที่เกิดแล้ว

๓. ยังฉันทะให้เกิดพยายามทำความเพียร ประคองจิตตั้งใจมั่นเพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

๔. ยังฉันทะให้เกิดพยายามทำความเพียร ประคองจิตตั้งใจมั่นเพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วคงอยู่ไม่เลือนหายไป ให้ภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล สัมมัปปธาน ๔.

ภิกษุเหล่านั้นมีความเพียรชอบย่อมครอบงำเสียได้ซึ่งแดนมาร ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้อันกิเลสไม่อาศัยแล้วพ้นภัย คือ เกิด ตายแล้ว ถึงฝั่ง (คือพระนิพพาน) ภิกษุเหล่านั้นสบายใจ ชนะมารกับทั้งพลพาหนะมารแล้ว ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ล่วงเสียซึ่งมารและพลมารทั้งปวง ถึงซึ่งความสุข.

จบปธานสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 40

อรรถกถาปธานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปธานสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมฺมปฺปธานานิ ได้แก่ ความเพียรดี คือความเพียรสูงสุด. บทว่า สมฺมปฺปธานา ได้แก่ พระขีณาสพผู้มีความเพียรบริบูรณ์. บทว่า มารเธยฺยาภิภูตา ความว่า พระขีณาสพเหล่านั้น ครอบงำข้ามแดนมาร คือ เตภูมิกวัฎ. บทว่า เต อสิตา ได้แก่ พระขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้อันกิเลสไม่อาศัยแล้ว. บทว่า ชาติมรณภยสฺส ได้แก่ ภัยที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความเกิดและความตาย หรือภัยกล่าวคือความเกิดและความตาย. บทว่า ปารคู แปลว่า ถึงฝั่ง. บทว่า เต ตุสิตา ความว่า พระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่า ยินดีแล้ว. บทว่า เชตฺวา มารํ สวาหนํ ได้แก่ ชนะมารกับทั้งกองทัพอยู่แล้ว. บทว่า เต อเนชา ความว่า พระขีณาสพเหล่านั้น ไม่หวาดหวั่น ด้วยความหวาดหวั่นคือตัณหา ชื่อว่า ไม่หวั่นไหว. บทว่า นมุจิพลํ แปลว่า พลของมาร. บทว่า อุปาติวตฺตา แปลว่า ก้าวล่วง. บทว่า เต สุขิตา ได้แก่ พระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่าความสุขด้วยโลกุตรสุข. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

พระอรหันตทั้งหลายสุขจริงหนอ ท่านไม่มีตัณหา ถอนอัสมิมานะได้เด็ดขาดแล้ว ทำลายข่ายคือโมหะเสียแล้ว ดังนี้.

จบอรรถกถาปธานสูตรที่ ๓