พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. บัญญัตติสูตร ว่าด้วยอัครบัญญัติ ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38805
อ่าน  372

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 44

ปฐมปัณณาสก์

จรวรรคที่ ๒

๕. บัญญัตติสูตร

ว่าด้วยอัครบัญญัติ ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 44

๕. ปัญญัตติสูตร

ว่าด้วยอัครบัญญัติ ๔

[๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัครบัญญัติ (บัญญัติกันว่าเยี่ยมยอด) ๔ นี้ อัครบัญญัติ ๔ คืออะไร คือ ที่เยี่ยมยอดทางอัตภาพ (ตัวใหญ่ที่สุด) ได้แก่อสุรินทราหู ที่เยี่ยมยอดทางบริโภคกาม ได้แก่พระเจ้ามันธาตุ ที่เยี่ยมยอดทางเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้แก่มารผู้มีบาป พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่าเยี่ยมยอด ในโลกทั้งเทวโลกทั้งมารโลกทั้งพรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งเทวดามนุษย์ รวมทั้งสมณพราหมณ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้แล อัครบัญญัติ ๔.

ราหูเป็นเยี่ยมทางอัตภาพ พระเจ้ามันธาตุเป็นเยี่ยมทางบริโภคกาม มารผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ด้วยยศ เป็นเยี่ยมในทางเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่า เป็นเยี่ยมยอดแห่งสัตว์โลกทั้งเทวดา ทั้งเบื้องสูง ท่ามกลาง เบื้องต่ำ ทุกภูมิโลก.

จบบัญญัตติสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 45

อรรถกถาปัญญญัตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัญญัติสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อคฺคปญฺตฺติโย ได้แก่ การบัญญัติสูงสุด. บทว่า อตฺตภาวีนํ ได้แก่ มีอัตภาพทั้งหลาย. บทว่า ยทิทํ ราหุ อสุรินฺโท ได้แก่ อสุรินทราหูนี้ ชื่อว่าเป็นยอด. ได้ยินว่า ในข้อนี้ อสุรินทราหูสูง ๔,๘๐๐ โยชน์. ที่ระหว่างแขนของเขา ๑,๒๐๐ โยชน์. ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา ๓๐๐ โยชน์. ข้อนิ้วมือ ๕๐ โยชน์. ที่ระหว่างคิ้วของเขา ๕๐ โยชน์. หน้าผาก ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะ ๙๐๐ โยชน์.

บทว่า กามโภคีนํ ยทิทํ ราชา มนฺธาตา ความว่า พระเจ้ามันธาตุนี้ ชื่อว่าเป็นยอดของสัตว์ผู้บริโภคกามทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ จริงอยู่ พระเจ้ามันธาตุนั้น เกิดในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีอายุอสงไขยหนึ่ง บันดาลให้ฝนตกเป็นเงิน ในขณะที่ปรารถนาๆ บริโภคกามที่เป็นของหมู่มนุษย์เป็นเวลาช้านาน ส่วนในเทวโลก ก็บริโภคกามอันประณีต ตลอดอายุพระอินทร์ ๓๖ พระองค์ เพราะฉะนั้น ท้าวเธอจึงชื่อว่า เป็นยอดของผู้บริโภคกามทั้งหลาย. บทว่า อาธิปเตยฺยานํ ความว่า แห่งบรรดาผู้ครองตำแหน่งอธิบดี ตำแหน่งหัวหน้า. บทว่า ตถาคโต อคฺคมกฺขายติ ความว่า ปราชญ์เรียกตถาคตว่าเลิศประเสริฐสูงสุด โดยคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ.

บทว่า อิทฺธิยา ยสสา ชลํ ความว่า ผู้รุ่งเรืองด้วยความสำเร็จแห่งทิพยสมบัติ และด้วยยศกล่าวคือบริวาร. บทว่า อุทฺธํ ติริยํ อปาจีนํ ได้แก่ ในเบื้องบน เบื้องกลาง เบื้องต่ำ. บทว่า ยาวตา ชคโต คติ ได้แก่ ภูมิสำเร็จแห่งโลกเพียงใด.

จบอรรถกถาบัญญัตติสูตรที่ ๕