พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โลกสูตร ว่าด้วยตถาคตรู้โลกและอารมณ์ ๖

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38813
อ่าน  400

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 65

ปฐมปัณณาสก์

อุรุเรลวรรคที่ ๓

๓. โลกสูตร

ว่าด้วยตถาคตรู้โลกและอารมณ์ ๖


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 65

๓. โลกสูตร

ว่าด้วยตถาคตรู้โลกและอารมณ์ ๖

[๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลก ตถาคตรู้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ตถาคตจึงออกจากโลกได้ โลกสมุทัย ตถาคตก็รู้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ตถาคตจึงละโลกสมุทัยได้ โลกนิโรธ ตถาคตก็รู้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว โลกนิโรธตถาคตจึงทำให้แจ้งแล้ว โลกนิโรธคามินีปฏิปทา ตถาคตก็รู้ประจักษ์ ด้วยตนเองแล้ว โลกนิโรธคามินีปฏิปทา ตถาคตจึงทำให้มีแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ทราบแล้ว ได้รู้สึกแล้ว ได้ประสบแล้ว ได้แสวงหาแล้ว ได้คิดค้นทางใจแล้วสิ่งนั้นตถาคตได้ตรัสรู้โดยชอบแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า ตถาคต.

ข้อที่ตถาคตได้ตรัสรู้ในเวลาราตรี และปรินิพพานในเวลาราตรี ตถาคตกล่าวแสดงชี้แจงข้อคำอันใดในระหว่างนั้น ข้อคำทั้งปวงนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นไป เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า ตถาคต.

ตถาคตพูดอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดพูดอย่างนั้น เพราะตถาคต (ยถาวาที ตถาการี) พูดอย่างใดทำอย่างนั้น (ยถาการี ตถาวาที) ทำอย่างใด พูดอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า ตถาคต.

ในโลกทั้งเทวโลกทั้งมารโลกทั้งพรหมโลกในหมู่สัตว์ทั้งเทวดามนุษย์ ทั้งสมณพราหมณ์ ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ (โดยอริยสีลาทิคุณ) ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้ครองอำนาจ เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า ตถาคต.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 66

ท่านผู้ใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งโลกทั้งปวง รู้อารมณ์ตามที่เป็นจริงอยู่อย่างไรในโลกทั้งปวง เป็นผู้ไม่ติดอยู่ในโลก เป็นผู้ไม่มีตัณหา ทิฏฐิ และริษยาในโลก ทั้งปวง ท่านผู้นั้นแล เป็นปราชญ์ใหญ่ยิ่งกว่าสรรพสัตว์ ปลดเปลื้องเครื่องผูกมัดเสียสิ้น ได้บรมสันติ คือ พระนิพพาน อันไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ นั่นคือ พระขีณาสพพุทธเจ้า ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ตัดความสงสัยแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นกรรมทั้งปวง ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นอุปธิ.

เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงเป็นพระพุทธเป็นสีหะประเสริฐ (ในหมู่มนุษย์) ทรงประกาศพรหมจักรแก่ชาวโลกกับทั้งเทวดา.

เพราะรู้พระคุณเช่นนี้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จึงพากันมานมัสการพระองค์ ผู้เป็นมหาบุรุษผู้ปราศจากความครั่นคร้าม.

พระองค์ทรงฝึกพระองค์แล้ว ประเสริฐกว่าผู้ฝึกทั้งหลาย พระองค์เป็นพระฤษีผู้สงบแล้ว ประเสริฐกว่าผู้สงบทั้งหลาย พระองค์ทรงพ้นแล้ว เลิศกว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 67

ผู้พ้นทั้งหลาย พระองค์ทรงข้าม (โอฆะ) แล้ว ประเสริฐกว่าผู้ข้ามทั้งหลาย.

ด้วยเหตุนี้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงนมัสการพระองค์ผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ปราศจากความครั่นคร้าม บุคคลเปรียบปานพระองค์ไม่มีในโลกมนุษย์กับทั้งโลกเทวดา.

จบโลกสูตรที่ ๓

อรรถกถาโลกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโลกสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โลโก ได้แก่ทุกขสัจ. บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ได้แก่ ทำให้ประจักษ์แล้วด้วยญาณ. บทว่า โลกสฺมา ได้แก่ จากทุกขสัจ. บทว่า ปหีโน ได้แก่ ละได้แล้ว ด้วยอรหัตตมรรคญาณ ที่มหาโพธิมัณฑสถาน (โคนโพธิ). บทว่า ตถาคตสฺส ภาวิตา แปลว่า อันตถาคตทำให้มีแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่พระองค์เป็นพุทธะด้วยสัจจะ ๔ โดยฐานะมีประมาณเท่านี้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ยํ ภิกฺขเว เพื่อตรัสความที่พระองค์เป็นตถาคต. ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺํ ได้แก่ รูปายตนะ อายตนะคือรูป. บทว่า สุตํ ได้แก่ สัททายตนะ อายตนะคือเสียง บทว่า มุตํ ได้แก่ อายตนะคือ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเป็นอารมณ์ที่มาถึงแล้วรับไว้. บทว่า วิญฺาตํ ได้แก่ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 68

มีสุขและทุกข์เป็นต้น. บทว่า ปตฺตํ ได้แก่ แสวงหาหรือไม่แสวงหาก็มาถึงแล้ว. บทว่า ปริเยสิตํ ความว่า มาถึงหรือยังไม่มาถึง ก็แสวงหาแล้ว. บทว่า อนุวิจริตํ มนสา ได้แก่ คิดค้นด้วยจิต. ด้วยบทว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธํ นี้ ทรงแสดงข้อนี้ว่า รูปารมณ์เป็นต้นว่า สีเขียว สีเหลือง อันใดปรากฏในจักขุทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุ อันหาประมาณมิได้ ตถาคตตรัสรู้รูปารมณ์อันนั้นทั้งหมดอย่างนี้ว่า สัตว์นี้เห็นรูปารมณ์ ชื่อนี้ ในขณะนี้แล้ว เกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เป็นกลางบ้าง ดังนี้. อนึ่ง สัททารมณ์แป็นต้นว่า เสียงกลอง ปรากฏในโสตทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ก็เหมือนกัน คันธารมณ์เป็นต้นว่า กลิ่นที่ราก กลิ่นที่เปลือก ปรากฏในฆานทวาร รสารมณ์เป็นต้นว่า รสที่ราก รสที่ลำต้น ปรากฏในชิวหาทวาร โผฏฐัพพารมณ์ต่างด้วยธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นต้นว่า แข็ง อ่อน ปรากฏในกายทวาร ตถาคตตรัสรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้นทั้งหมดอย่างนี้ว่า สัตว์นี้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ ชื่อนี้ ในขณะนี้ แล้ว เกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เป็น กลางบ้างดังนี้. อนึ่ง ธรรมารมณ์ต่างด้วยสุขและทุกข์เป็นต้น ปรากฏในมโนทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุ ที่หาประมาณมิได้ ตถาคตตรัสรู้ธรรมารมณ์นั้นทั้งหมดอย่างนี้ว่า สัตว์นี้รู้ ธรรมารมณ์ ชื่อนี้ ในขณะนี้แล้ว เกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เป็นกลางบ้าง ดังนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อารมณ์อันใดอันสรรพสัตว์เหล่านี้ เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ทราบแล้ว รู้สึกแล้ว ในอารมณ์อันนั้น ตถาคตไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ทราบหรือไม่รู้ ก็หามิได้ ส่วนอารมณ์ที่มหาชนนี้แสวงหาแล้ว แต่ไม่ถึงก็มี ไม่แสวงหาแล้วไม่ถึงก็มี แสวงหาแล้วจึงถึงก็มี ไม่แสวงหาแล้วแต่ถึงก็มี อารมณ์แม้ทั้งหมด ชื่อว่าไม่ถึงแก่ตถาคต ตถาคตไม่ทำให้แจ้งด้วยญาณหามีไม่. บทว่า ตสฺมา ตถาคโตติ วุจฺจติ ความว่า เรียกว่าตถาคต เพราะโลกไปอย่างใด. ตถาคตก็ไปอย่างนั้นแหละ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 69

ส่วนในบาลีท่านกล่าวว่า อภิสมฺพุทฺธํ บทนั้นก็มีอรรถอย่างเดียวกับตถาคตศัพท์. พึงทราบเนื้อความแห่งคำนิคมลงท้ายว่า ตถาคโต ในทุกวาระโดยนัยนี้. ยุติความถูกต้องแห่งตถาคตศัพท์นั้น กล่าวไว้โดยพิสดารแห่งตถาคตศัพท์ในอรรถกถาที่ว่าด้วยเอกบุคคล อนึ่ง ในข้อนี้ ศัพท์ว่า อญฺทตฺถุํ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าส่วนเดียว. ชื่อว่า ทสะ เพราะเห็น. ชื่อว่า วสวัตติ เพราะใช้อำนาจ.

บทว่า สพฺพโลกํ อภิญฺาย ความว่า รู้ซึ่งโลกสันนิวาสที่เป็น ไตรธาตุ ธาตุสาม. บทว่า สพฺพโลเก ยถาตถํ ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง พึงรู้ได้ในโลกสันนิวาสที่เป็นธาตุสามนั้น ทรงรู้สิ่งนั้นทั้งหมดตามเป็นจริง ไม่วิปริต. บทว่า วิสํยุตฺโต ความว่า ปราศจากโยคะเพราะทรงละโยคะ ๔ ได้. บทว่า อนุสฺสโย ความว่า เว้นขาดจากตัณหา ทิฏฐิ และอุสสยา (ความริษยา). บทว่า สพฺพาภิภู ความว่า ผู้ครอบงำอารมณ์ทั้งปวงมีรูปเป็นต้น ได้แล้ว. บทว่า ธีโร คือผู้ถึงพร้อมด้วยธิติปัญญา. บทว่า สพฺพคนฺถปฺปโมจโน ความว่า ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ ได้หมด. บทว่า ผุฏฺสฺส ตัดบทเป็น ผุฏฺา อสฺส. และบทนี้เป็นฉัฏฐีรีวิภัติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัติ. บทว่า ปรมา สนฺติ ได้แก่นิพพาน. จริงอยู่ นิพพานนั้น อันธีรชนถูกต้อง แล้วด้วยความถูกต้อง ด้วยญานนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิพฺพานํ อกุโตภยํ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปรมา สนฺติ ได้แก่ อุดมสันติ. ถามว่า อุดมสันตินั้นคืออะไร. ตอบว่า ก็บรมสันตินั้นแหละ คือ นิพพาน. จริงอยู่ ก็เพราะเหตุที่ในนิพพานไม่มีภัยแม้แต่ที่ไหน ฉะนั้น นิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่าไม่มีภัยแต่ที่ไหน. บทว่า วิมุตฺโต อุปธิสํขเย ความว่า หลุดพ้นแล้ว เพราะนิพพานกล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ด้วยผลวิมุตติที่มีนิพพานนั้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 70

เป็นอารมณ์. บทว่า สีโห อนุตฺตโร ความว่า ตถาคต ชื่อว่า สีหะ ผู้ยอดเยี่ยม เพราะอรรถว่า ทรงอดกลั้นอันตรายทั้งหลาย และเพราะอรรถว่า กำจัดกิเลสทั้งหลาย. บทว่า พฺรหฺมํ แปลว่า ประเสริฐ. บทว่า อิติ ความว่า รู้คุณของตถาคตอย่างนี้. บทว่า สงฺคมฺม ได้แก่ มาประชุมกันแล้ว. บทว่า นํ คือพระตถาคต. บทว่า นมสฺสนฺติ ความว่า เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ถึงพระตถาคตนั้นเป็นสรณะแล้ว นอบน้อมอยู่. บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึง ท่านผู้ที่เทวดาและมนุษย์นอบน้อมกล่าวถึงอยู่ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ทนฺโต ดังนี้. คำนั้น มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาโลกสูตรที่ ๓