พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. พรหมจริยสูตร ว่าด้วยเหตุประพฤติพรหมจรรย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38815
อ่าน  601

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 79

ปฐมปัณณาสก์

อุรุเรลวรรคที่ ๓

๕. พรหมจริยสูตร

ว่าด้วยเหตุประพฤติพรหมจรรย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 79

๕. พรหมจริยสูตร

ว่าด้วยเหตุประพฤติพรหมจรรย์

[๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องคน (ให้มานับถือ) มิใช่เพื่ออานิสงส์ ลาภ สักการะ และความสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้คนรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสังวร เพื่อปหานะ (ความละ) เพื่อวิราคะ (ความหายกำหนัดยินดี) เพื่อนิโรธะ (ความดับทุกข์)

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ อันเป็นการละเว้นสิ่งที่กล่าวตามกันมา เป็นทางหยั่งลงสู่พระนิพพาน เพื่อสังวร เพื่อปหานะ.

ทางนั้น มหาบุรุษทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ได้ดำเนินแล้ว ชนเหล่าใด ดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา จักกระทำที่สุดทุกข์ได้.

จบพรหมจริยสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 80

อรรถกถาพรหมจริยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพรหมจริยสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ชนกุหนตฺถํ ความว่า เพื่อความหลอกลวงคน ด้วยเรื่อง กุหนวัตถุ ๓ อย่าง. บทว่า น ชนลปนตฺถํ ได้แก่ มิใช่เพื่อเรียกร้องคน. บทว่า น ลาภสกฺการสิโลกานิสํสตฺถํ ได้แก่ มิใช่เพื่อลาภสักการะมีจีวร เป็นต้น และคำสรรเสริญ. บทว่า น อิติวาทปฺปโมกฺขานิสํสตฺถํ ได้แก่ มิใช่เพื่ออานิสงค์เป็นเจ้าลัทธิ ด้วยเหตุนั้นๆ มิใช่เพื่ออานิสงส์จะเปลื้องลัทธิ. บทว่า น อิติ มํ ชโน ชานาตุ ได้แก่ มิใช่เพื่อให้คนรู้จักว่า ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นอย่างนี้. บทว่า สํวรตฺถํ ได้แก่ เพื่อความสำรวมด้วยสังวร ๕. บทว่า ปหานตฺถํ ได้แก่ เพื่อละด้วยปหานะ ๓. บทว่า วิราคตฺถํ ได้แก่ เพื่อคลายกิเลสมีราคะเป็นต้น. บทว่า นิโรธตฺถํ ได้แก่ เพื่อดับกิเลสเหล่านั้นเอง. บทว่า อนีติหํ ได้แก่ งดเว้นอิติหาสที่ว่าตามกันมาตามประเพณี ไม่ดำเนินตามผู้อื่น. บทว่า นิพฺพาโนคธคามินํ ความว่า เป็นทางหยั่งลงภายในนิพพาน. ความจริง มรรคพรหมจรรย์ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นไปคือดำเนินไปภายในนิพพานนั่นเอง. บทว่า ปฏิปชฺชนฺติ ได้แก่ ดำเนินตามทางแม้ทั้งสองอย่าง. ในพระสูตรนี้ ตรัสทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะ ใน คาถาตรัสวิวัฏฏะอย่างเดียว.

จบอรรถกถาพรหมจริยสูตรที่ ๕