พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ปริพาชกสูตร ว่าด้วยตรัสธรรม ๔ แก่ปริพาชก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38820
อ่าน  374

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 109

ปฐมปัณณาสก์

อุรุเรลวรรคที่ ๓

๑๐. ปริพาชกสูตร

ว่าด้วยตรัสธรรม ๔ แก่ปริพาชก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 109

๑๐. ปริพาชกสูตร

ว่าด้วยตรัสธรรม ๔ แก่ปริพาชก

[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงปรากฏหลายคนอยู่ที่อารามปริพาชก แทบฝั่งแม่น้ำสัปปินี คือปริพาชกชื่ออันนภาระ ชื่อวธระ ชื่อสกุลุทายิและปริพาชกมีชื่อเสียงปรากฏอื่นอีก ครั้งนั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้วเสด็จไปอารามปริพาชกนั้น ครั้นเสด็จถึงแล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดไว้แล้ว จึงตรัสกะปริพาชกทั้งหลายว่า

ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ข้อนี้ ปรากฏว่าเป็นข้อธรรมอันเลิศ ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว ธรรมบท ๔ ข้อคือ อะไรบ้าง คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้แล ธรรมบท ๔ ข้อที่ปรากฏว่าเป็นข้อธรรมอันเลิศ ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว.

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเลิกถอนธรรมบท คืออนภิชฌาเสียแล้ว บัญญัติ (แต่งตั้ง ยกย่อง) สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีอภิชฌาผู้กำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย (ว่าเป็นคนดี) ดังนี้ ในชื่อนี้เราจะว่ากะผู้นั้นว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจะคอยดูอานุภาพ ปริพาชกทั้งหลาย ข้อที่ผู้นั้นนะ จักเลิกถอนธรรมบทคืออนภิชฌาเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือ พราหมณ์ผู้มีอภิชฌาผู้มีความกำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย (ว่าเป็นคนดี) นั่น เป็นไปไม่ได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 110

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเลิกถอนธรรมบท คืออพยาบาทเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาทมีน้ำใจดุร้าย (ว่าเป็นคนดี) ดังนี้ ในข้อนี้เราจะว่ากะผู้นั้นว่า จงมา จงกล่าว จงสำแดง เราจะคอยดูอานุภาพ ปริพาชกทั้งหลาย ข้อที่ผู้นั้นนะ จักเลิกถอนธรรมบทคือ อพยาบาทเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาทมีน้ำใจดุร้าย (ว่าเป็นคนดี) นั่นเป็นไปไม่ได้

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเลิกถอนธรรมบท คือสัมมาสติเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ (ว่าเป็นคนดี) ดังนี้ ในข้อนี้เราจะว่ากะผู้นั้นว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจะคอยดูอานุภาพ ปริพาชกทั้งหลาย ข้อที่ผู้นั้นนะ จักเลิกถอนธรรมบท คือสัมมาสติเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้หลงลืมสติไม่มีสัมปชัญญะ (ว่าเป็นคนดี) นั่นเป็นไปไม่ได้.

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเลิกถอนธรรมบท คือสัมมาสมาธิเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด (ว่าเป็นคนดี) ดังนี้ ในข้อนี้เราจะว่ากะผู้นั้นว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจะคอยดูอานุภาพ ปริพาชกทั้งหลาย ข้อที่ผู้นั้นนะ จักเลิกถอนธรรมบท คือสัมมาสมาธิเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด (ว่าเป็นคนดี) นั่นเป็นไปไม่ได้.

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดมาสำคัญเห็นธรรมบท ๔ ข้อนี้ว่าเป็นข้อควรติควรคัดค้าน ผู้นั้นย่อมได้รับคำติฉินอันสมแก่เหตุ ตกอยู่ในฐานะอันน่าติเตียน ๔ ประการในปัจจุบันนี้ ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 111

ถ้าผู้นั้นติเตียนคัดค้านธรรมบทคืออนภิชฌาไซร้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีอภิชฌามีความกำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นก็ต้องเป็นที่บูชา ... เป็นที่ยกย่องของผู้นั้น

ถ้าผู้นั้นติเตียนคัดค้านธรรมบทคืออพยาบาทไซร้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีจิตพยาบาทมีใจดุร้าย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นก็ต้องเป็นที่บูชา ... เป็นที่ยกย่องของผู้นั้น

ถ้าผู้นั้นติเตียนคัดค้านธรรมบทคือสัมมาสติไซร้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้หลงลืมสติไม่มีสัมปชัญญะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นก็ต้องเป็นที่บูชา ... เป็นที่ยกย่องของผู้นั้น

ถ้าผู้นั้นติเตียนคัดค้านธรรมบทคือสัมมาสมาธิไซร้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นก็ต้องเป็นที่บูชา ... เป็นที่ยกย่องของผู้นั้น

ผู้ใดมาสำคัญเห็นธรรมบท ๔ ข้อนี้ว่าเป็นข้อควรติควรคัดค้าน ผู้นั้น ย่อมได้รับคำติฉินอันสมแก่เหตุ ตกอยู่ในฐานะที่น่าติเตียน ๔ ประการนี้ ในปัจจุบันนี่แล

ปริพาชกทั้งหลาย แม้แต่ปริพาชกชื่อวัสสะและภัญญะ ชาวชนบทอุกกละ ผู้เป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ ยังไม่สำคัญเห็นธรรมบท ๔ ข้อนี้ว่าเป็นข้อควรติควรคัดค้าน นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะกลัวถูกนินทา ว่าร้ายและเกลียดชัง

ผู้ไม่พยาบาท มีสติทุกเมื่อ มีใจตั้งมั่นในภายใน ศึกษาในอันกำจัดอภิชฌา เรียกว่าผู้ไม่ประมาท.

จบปริพาชกสูตรที่ ๑๐

จบอุรุเวลวรรคที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 112

อรรถกถาปริพาชกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปริพาชกสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อภิญฺาตา ได้แก่ ผู้มีชื่อที่รู้จักกันคือปรากฏ. บทว่า อนฺนภาโร เป็นต้น เป็นชื่อของปริพาชกเหล่านั้น. บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺิโต ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากผลสมาบัติ. ก็ผลสมาบัตินั้น ท่านประสงค์ว่าที่เร้นในที่นี้. บทว่า ปจฺจกฺขาย คือคัดค้าน. บทว่า อภิชฺฌาลุํ คือผู้มีตัณหา. บทว่า กาเมสุ ติพฺพสาราคํ ความว่า ผู้มีราคะ ความกำหนัดมากในวัตถุกาม. บทว่า ตมหํ ตตฺถ เอวํ วเทยฺยํ ความว่า เมื่อเขากล่าวคำนั้น เราจะกล่าวอย่างนี้ในเหตุนั้น. บทว่า ปฏิกฺโกสิตพฺพํ มญฺเยฺย ความว่า ผู้ใดมาสำคัญว่าควรคัดค้าน คือว่าควรห้าม. บทว่า สหธมฺมิกา ได้แก่พร้อมกับเหตุ บทว่า วาทานุปาตา ความว่า ก็เบียดเบียน วาทะที่ประกอบด้วยธรรม ก็ตกไปตามวาทะที่ไม่ประกอบด้วยธรรม อธิบายว่า ประพฤติตามวาทะ. บทว่า คารยฺหา านา คือปัจจัยอันควรติเตียน. บทว่า อาคจฺฉนฺติ คือย่อมเข้าถึง.

บทว่า อุกฺกลา คือชาวชนบทอุกกละ. บทว่า วสฺสภญฺา คือ ปริพาชก ๒ คน ชื่อวัสสะ และภัญญะ. บทว่า อเหตุกวาทา ความว่า ทั้ง ๒ คนเป็นผู้มีวาทะเป็นต้นอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลายดังนี้. บทว่า อกิริยวาทา ความว่า ผู้มีวาทะปฏิเสธ กิริยวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำอยู่ บาปไม่ชื่อว่าอันบุคคลทำดังนี้. บทว่า นตฺถิกวาทา ความว่า ผู้มีวาทะเป็นต้นอย่างนี้ว่า ทานที่ทายกให้แล้วไม่มีผล ดังนี้. คนทั้ง ๒ เหล่านั้น เป็นผู้ดิ่งลงในทัสนะทั้ง ๓ เหล่านี้. ถามว่า ก็ใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 113

คนเหล่านั้น กำหนดได้อย่างไร? ตอบว่า ก็ผู้ใดถือลัทธิเห็นปานนี้ นั่งสาธยายพิจารณาอยู่ในสถานที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน มิจฉาสติของผู้นั้นย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เมื่อบุคคลทำอยู่ บาปย่อมไม่ชื่อว่าอันบุคคลทำ ฯลฯ ทานที่ทายกให้แล้วไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายแตก ย่อมขาดสูญ ดังนี้ จิตย่อมแน่วแน่ ชวนจิตทั้งหลายย่อมแล่นไป ในชวนจิตที่หนึ่ง ผู้นั้นยังเป็นผู้แก้ไขได้ ในชวนจิตที่สองเป็นต้น ก็อย่างนั้น ในชวนจิตที่เจ็ด ผู้นั้นแม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็แก้ไขไม่ได้ไม่กลับมา ย่อมเป็นเช่นเดียวกับอริฏฐภิกษุและกัณฏกสามเณร. บรรดาทัสนะ ๓ อย่างนั้น บางคนหยั่งสู่ทัสนะเดียว บางคน ๒ ทัสนะ บางคน ๓ ทัสนะ เขาย่อมชื่อว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิกะทั้งนั้น เขาต้องห้ามทางสวรรค์ และต้องห้ามทางพระนิพพาน ไม่ควรจะไปสู่สวรรค์ ในลำดับแห่งอัตภาพนั้น จะต้องกล่าวไปไย ถึงพระนิพพานเล่า. อธิบายว่า สัตว์ผู้นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน ชื่อว่าเป็นตอในวัฏฏะ. โดยมากสัตว์เห็นปานนี้ไม่ออกจากภพ. ถึงวัสสะ และภัญญะปริพาชกก็เป็นเช่นนี้. บทว่า นินฺทาพฺยาโรสนาอุปารมฺภภยา ความว่า เพราะตนกลัวนินทา กลัวเกลียดชัง และกลัวเขาว่าร้ายดังนี้.

บทว่า อภิชฺฌาวินเย สิกฺขํ ความว่า พระอรหัต เรียกว่าธรรมเครื่องกำจัดอภิชฌา ผู้ศึกษาในพระอรหัตอยู่ เรียกว่าผู้ไม่ประมาทดังนี้. ตรัสทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะไว้ในพระสูตรแล้ว จึงตรัสผลสมาบัติไว้ในพระคาถา ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาปริพาชกสูตรที่ ๑๐

จบอุรุเวลวรรควรรณนาที่ ๓

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 114

รวมพระสูตรที่มีในอุรุเวลวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมอุรุเวลสูตร ๒. ทุติยอุรุเวลสูตร ๓. โลกสูตร ๔ กาฬกสูตร ๕. พรหมจริยสูตร ๖. กุหสูตร ๗. สันตุฏฐิสูตร ๘. อริยวังสสูตร ๙. ธัมมปทสูตร ๑๐. ปริพาชกสูตร และอรรถกถา.