๑. จักกสูตร ว่าด้วยจักร ๔
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 115
ปฐมปัณณาสก์
จักกวรรคที่ ๔
๑. จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 115
จักกวรรคที่ ๔
๑. จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔
[๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักร (คือธรรมดุจล้อรถ) ๔ ประการนี้ เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้จักร (ที่จะหมุนนำไปสู่ความเจริญ) ๔ ประการ เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลายไม่นานเลย จักร ๔ ประการ คืออะไร คือ ปฏิรูปเทสวาสะ (ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ) ๑ สัปปุริสูปัสสยะ (ความพึ่งพิงสัตบุรุษ) ๑ อัตตสัมมาปณิธิ (ความตั้งตนไว้ชอบ) ๑ ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน) ๑ นี้แลจักร ๔ ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้ จักร ๔ ประการ เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลายไม่นานเลย
นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงทำอารยชนให้เป็นมิตร ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ เกียรติ และความสุข ย่อมพรั่งพรูมาสู่นรชนผู้นั้น.
จบจักกสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 116
จักรวรรควรรณนาที่ ๔
อรรถกถาจักกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในจักกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า จกฺกานิ คือ สมบัติ. บทว่า จตุจกฺกํ วตฺตติ ความว่า จักรคือสมบัติ ๔ ย่อมหมุนสืบต่อกันไป. บริษัท ๔ ย่อมปรากฏพร้อมในถิ่นใด ความอยู่ในถิ่นอันสมควรเห็นปานนั้น ชื่อว่า ปฏิรูปเทสวาสะ ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ. ความพึ่งพิงคบหาสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่า สัปปุริสูปัสสยะ ความพึ่งพิงสัตบุรุษ. การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเป็นคนประกอบ ด้วยความไม่มีสัทธาเป็นต้นมาก่อน การละความไม่มีสัทธาเหล่านั้นเสียแล้ว ตั้งอยู่ในสัทธาเป็นต้น ชื่อว่า อัตตสัมมาปณิธิ ความตั้งคนไว้ชอบ. ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้ในกาลก่อน ชื่อว่า ปุพฺเพ จ กตปฺญฺตา ความเป็นผู้ทำบุญมาก่อน. ข้อนี้แหละถือเอาเป็นประมาณในจักร ๔ นี้. เพราะว่ากุศลกรรมเท่านั้นอันคนใดด้วยจิตที่สัมปยุตด้วยญาณอันใด กุศลจิตนั้นแหละย่อมนำคนนั้นเข้าไปอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ให้เขาคบหาสัตบุรุษ. ก็บุคคลนั้นชื่อว่าตั้งตนไว้ชอบด้วยอาการอย่างนี้. บทว่า ปุญฺกโต แปลว่า ได้ทำบุญไว้แล้ว. บทว่า สุขฺเจตํ อธิวตฺตติ ความว่า และความสุข ย่อมพรั่งพรู คือ แผ่ลงมาสู่บุคคลนั้นดังนี้.
อรรถกถาจักรสูตรที่ ๑