พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. โทณสูตร ว่าด้วยโทณพราหมณ์ทูลถามปัญหา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38826
อ่าน  353

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 136

ปฐมปัณณาสก์

จักกวรรคที่ ๔

๖. โทณสูตร

ว่าด้วยโทณพราหมณ์ทูลถามปัญหา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 136

๖. โทณสูตร

ว่าด้วยโทณพราหมณ์ทูลถามปัญหา

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลอยู่ในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ แม้โทณพราหมณ์ก็เดินทางไกลอยู่ในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้เห็นรูปจักรในรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกอบด้วยซี่กำนับ ๑,๐๐๐ มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยลักษณาการพร้อมสรรพ เห็นประหลาดไม่เคยมี ชะรอยจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จแวะไปประทับอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้จำเพาะหน้า.

โทณพราหมณ์เดินตามรอยพระบาทไป พบพระองค์ ดูผุดผ่อง น่าเลื่อมใส อินทรีย์สงบ มีพระทัยอันสงบ ได้รับการฝึกฝนและความสงบ อย่างยอดเยี่ยม มีตนฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ครั้นแล้ว จึงเข้าไปใกล้แล้วทูลถามว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 137

พ. ตรัสตอบว่า เราไม่เป็นเทวดา พราหมณ์.

โทณ. เป็นคนธรรพ์หรือ.

พ. ไม่เป็น.

โทณ. เป็นยักษ์กระมัง.

พ. ไม่เป็น.

โทณ. เป็นมนุษย์สิ.

พ. ไม่เป็น.

โทณ. ข้าพเจ้าถามว่า ท่านเป็นเทวดา ... เป็นคนธรรพ์ ... เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่า ไม่เป็นๆ ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นใครกัน.

พ. พราหมณ์ เราจะพึงเป็นเทวดา ... เป็นคนธรรพ์ ... เป็นยักษ์ ... เป็นมนุษย์ เพราะอาสวะเหล่าใดที่เราละไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี่แน่ะพราหมณ์ ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ขึ้นมาตั้งอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น เกิดในโลก เติบใหญ่มาในโลก แต่เราอยู่เหนือโลก โลกไม่เข้ามากำซาบ (ใจเรา) ได้ แน่ะพราหมณ์ ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ

เราจะพึงได้กำเนิดเป็นเทวดา หรือว่าเป็นคนธรรพ์ผู้เหาะเหินได้ เพราะอาสวะใด เราจะพึงได้อัตภาพยักษ์ และอัตภาพมนุษย์ เพราะอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเราสิ้นไปแล้ว เราทำลาย ทำให้ขาดสายแล้ว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 138

แน่ะพราหมณ์ ดอกบัวย่อมขึ้นมาอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น โลกไม่เข้ามากำซาบใจเราได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ.

จบโทณสูตรที่ ๖

อรรถกถาโทณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโทณสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า อนฺตรา จ อุกฺกฏฺํ อนฺตรา จ เสตพยํ นี้ บทว่า อุกฺกฏฺา ได้แก่ นครที่เรียกกันอย่างนี้ เพราะเขาตามคบเพลิงสร้างแล้ว. บทว่า เสตพฺยํ ได้แก่ นครถิ่นเกิดของพระกัสสปสัมมาสัมมุทธเจ้าครั้งอดีต. ส่วนอันตราศัพท์ใช้ในอรรถว่าเหตุ ขณะ จิต ท่ามกลาง และระหว่าง. ใช้ใน อรรถว่าเหตุ ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า ตทนนฺตรํ โก ชาเนยฺย อญฺตร ตถาคตา ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้น นอกจากพระตถาคต และว่า ชนา สงฺคมฺม มนฺเตนฺติ มญฺจ ตญฺจ กิมนฺตรํ พวกชนประชุมปรึกษาเราและท่านถึง เหตุอะไร ดังนี้. ใช้ในอรรถว่าขณะ ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า อทฺทสา มํ ภนฺเต อญฺตรา อิตฺถี วิชฺชนฺตริกาย ภาชนํ โธวนฺตี ท่านขอรับ หญิงคนหนึ่ง กำลังล้างภาชนะอยู่ ขณะฟ้าแลบ ก็เห็นเรา ดังนี้. ใช้ในอรรถว่าจิต ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า ยสฺสนฺตรโต น สนฺติ โกปา ความแค้นเคืองย่อมไม่มีแต่จิตของผู้ใดดังนี้. ใช้ในอรรถว่าท่ามกลาง ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า อนฺตรา โวสานมาปาทิ ถึงการจบลงในท่ามกลาง ดังนี้. ใช้ในอรรถว่าระหว่าง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 139

ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า อปิจายํ ตโปทา ทฺวินฺนํ มหานิรยานํ อนฺตริกาย อาคจฺฉติ อนึ่ง สระน้ำตโปทานี้ ย่อมไหลมาจากระหว่างมหานรกทั้งสอง ดังนี้. อันตราศัพท์นี้นั้น ในที่นี้ใช้ในอรรถว่าระหว่าง เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในคำนี้อย่างนี้ว่า ในระหว่างนครอุกกัฏฐะกับนครเสตัพยะ ดังนี้. ท่านทำเป็นทุติยาวิภัติ เพราะประกอบด้วยอันตราศัพท์. ฝ่ายพวกอาจารย์ผู้คิดอักขระในฐานะเช่นนี้ ย่อมประกอบอันตราศัพท์อย่างหนึ่งในคำนี้อย่างนี้ว่า อนฺตรา คามญฺจ นทิญฺจ ยาติ บุคคลเดินไปในระหว่างบ้านและแม่น้ำ ดังนี้. อันตราศัพท์นั้น พึงประกอบแม้ด้วยบทที่สอง เมื่อไม่ประกอบก็ไม่เป็นรูปทุติยาวิภัติ แต่ในที่นี้ท่านประกอบแล้ว จึงกล่าวไว้อย่างนี้.

บทว่า อทฺธานมคฺคปฏิปนฺโน โหติ คือ ทรงเดินทางไกล อธิบายว่า ทางยาว. ถามว่า ทรงเดินทางไกล เพราะเหตุไร. ตอบว่า ได้ยินว่า ในวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า เมื่อเราเดินไปทางนั้น โทณพราหมณ์เห็นเจดีย์คือรอยเท้าของเรา ก็จะแกะรอยตามมาถึงที่เรานั่งแล้วถามปัญหา เมื่อเป็นดังนั้น เราจักแสดงสัจธรรมแก่เขาอย่างนี้ พราหมณ์จักแทงตลอด สามัญญผลสามได้แล้ว จักพรรณนาคุณ ชื่อโทณคัชชิตะ หนึ่งหมื่นสองพันบท เมื่อเราปรินิพพานแล้ว จักระงับการทะเลาะอย่างใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วชมพูทวีปแล้ว จึงจักแบ่งพระธาตุทั้งหลายกัน ดังนี้ จึงทรงเดินทางด้วยเหตุนี้.

บทว่า โทโณปิ สุทํ พฺราหฺมโณ ความว่า แม้โทณพราหมณ์ ชำนาญไตรเพท เมื่อสอนศิลปะกะพวกมาณพ ๕๐๐ คนในวันนั้น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทำกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว นุ่งผ้าค่านับ ๑๐๐ ใช้ของมีค่าราคา ๕๐๐ คล้องด้ายยัญ สวมรองเท้าสายแดง มีมาณพ ๕๐๐ ห้อมล้อม ได้เดินไปทางนั้นเหมือนกัน คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น. บทว่า ปาเทสุ ได้แก่ ในรอย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 140

ที่ทรงเหยียบด้วยพระบาท. บทว่า จกฺกานิ ได้แก่ จักกลักษณะ (รูปจักร). ถามว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำเนินอยู่ รอยพระบาทปรากฏในที่ที่ทรงเหยียบไว้หรือ. ตอบว่า ไม่ปรากฏดอก. เพราะอะไร. เพราะรอยพระบาท ละเอียด มีกำลังมาก และเพราะจะอนุเคราะห์มหาชน.

จริงอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีพระฉวีละเอียด สถานที่ทรงเหยียบ เป็นเหมือนสถานที่ปุ่ยนุ่นตั้งอยู่ รอยพระบาทจึงไม่ปรากฏ. รอยที่ตถาคตทรงเหยียบ ก็เป็นสักแต่ว่าเหยียบเท่านั้น รอยพระบาทจึงไม่ปรากฏในที่นั้น เพราะพระองค์เป็นผู้มีกำลังมาก เหมือนรอยเท้าของม้าสินธพมีฝีเท้าเร็วดุจลม มีกำลังเหยียบแม้บนใบของกอประทุม ก็สักว่าเหยียบเท่านั้น ฉะนั้น. ส่วนหมู่มหาชน เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไป เมื่อมหาชนนั้น เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาก็ไม่อาจจะเดินเหยียบทับ พึงเดินเลี่ยง ไปเสีย. เพราะฉะนั้น รอยพระบาทแม้ใดพึงมีในที่ทรงเหยียบแล้ว รอยพระบาทนั้นก็หายไปทันที. ฝ่ายโทณพราหมณ์เห็นได้ด้วยอำนาจอธิษฐานของพระตถาคต แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประสงค์จะแสดงเจดีย์คือพระบาทแก่ผู้ใด ปรารภถึงผู้นั้น ทรงอธิษฐานว่า คนชื่อโน้นจงเห็นดังนี้ เพราะฉะนั้น แม้พราหมณ์นี้ ได้เห็นก็ด้วยอำนาจอธิษฐานของพระตถาคตเหมือนมาคัณฑิยพราหมณ์.

บทว่า ปาสาทิกํ คือให้เกิดความเลื่อมใส. บทนอกนี้ก็เป็นไวพจน์ของบทว่า ปาสาทิกํ นั้นเอง. ในบทว่า อุตฺตมทมถสมถมนุปฺปตฺตํ นี้ พึงทราบดังนี้ อรหัตตมรรค ชื่อว่าการฝึกฝนอย่างสูงสุด อรหัตตมรรคสมาธิ ชื่อว่า ความสงบอย่างสูงสุด อธิบายว่า ทรงบรรลุทั้งสองอย่างนั้น. บทว่า ทนฺตํ คือ หมดพยศ. บทว่า คุตฺตํ คือ คุ้มครอง. บทว่า ยตินฺทฺริยํ คือ รักษาอินทรีย์. บทว่า นาคํ ความว่า ชื่อว่า นาคะ เพราะเหตุ ๔ คือ เพราะไม่ถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้น ๑ เพราะไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้แล้วอีก ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 141

เพราะไม่ทำบาป ๑ เพราะอรรถว่ามีกำลัง ๑. ในบทว่า เทโว โน ภวํ ภวิสฺสติ นี้ ก็การถามพึงจบลงด้วยคำประมาณเท่านี้ว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือดังนี้ แต่พราหมณ์ผู้นี้ เมื่อถามโดยอนาคตกาลว่า ท่านจักเป็นเทวราชองค์หนึ่ง ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ในอนาคตกาลกระมังดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสโดยชอบด้วยคำถามของพราหมณ์นั้น จึงตรัสว่าเราไม่ใช่เป็นเทวดาดอก พราหมณ์. ในบททุกบทก็นัยนี้. บทว่า อาสวานํ ได้แก่ อาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้น. บทว่า ปหีนา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ด้วยการบรรลุสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์. บทว่า อนูปลิตฺโต โลเกน ความว่า โลกคือสังขารโลกเข้ามากำซาบใจเราไม่ได้ เพราะเราละเครื่องลูบไล้คือตัณหาและทิฏฐิเสียแล้ว. บทว่า พุทฺโธ ความว่า ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ เพราะตรัสรู้สัจจะ ๔ ดังนี้.

บทว่า เยน คือ เพราะอาสวะใด. บทว่า เทวูปปตฺยสฺส ความว่า เราจะพึงได้กำเนิดเป็นเทวดา. บทว่า วิหงฺคโม ได้แก่ เทพจำพวกคนธรรพ์ผู้เหาะเหินได้. บทว่า วิทฺธสฺตา แปลว่า ทำลายแล้ว. บทว่า วินฬีกตา ได้แก่ทำให้ปราศจากประสานคือปราศจากเครื่องผูก. บทว่า โตเยน นุปลิปฺปติ ความว่า ดอกบัวขาวที่ชูโผล่ขึ้นพ้นน้ำ ราวศอกหนึ่งซึ่งทำให้สระงาม ทำฝูงภมรให้ร่าเริง น้ำซึมซาบไม่ได้. บทว่า ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พฺราหฺมณ ความว่า เวลาจบเทศนา พราหมณ์ บรรลุผลสามแล้วจึงกล่าวคุณ ชื่อว่า โทณคัชชิตะ (เสียงกระหึมของโทณพราหมณ์) ด้วยคาถา ๑๒,๐๐๐ บท ก็เมื่อพระตถาคต ปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ระงับความทะเลาะอย่างใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วพื้นชมพูทวีปแล้ว จึงได้แบ่งซึ่งพระธาตุทั้งหลายแก่กัน ดังพรรณนา มานี้.

จบอรรถกถาโทณสูตรที่ ๖