พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ปัญหาสูตร ว่าด้วยปัญหาพยากรณ์ ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38832
อ่าน  360

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 159

ปฐมปัณณาสก์

โรหิตัสสวรรคที่ ๕

๒. ปัญหาสูตร

ว่าด้วยปัญหาพยากรณ์ ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 159

๒. ปัญหาสูตร

ว่าด้วยปัญหาพยากรณ์ ๔

[๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ (การกล่าวแก้ปัญหา) ๔ อย่างนี้ ปัญหาพยากรณ์ ๔ คืออะไรบ้าง คือปัญหาเป็นเอกังสพยากรณียะ (ต้องแก้โดยส่วนเดียว) ๑ ปัญหาเป็นวิภัชชพยากรณียะ (ต้องจำแนกแก้) ๑ ปัญหาเป็นปฏิปุจฉาพยากรณียะ (ต้องย้อนถามแล้วจึงแก้) ๑ ปัญหาเป็นฐปนียะ (ต้องงดแก้) ๑ ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่าง

ปัญหาพยากรณ์อย่างหนึ่งพึงแก้โดยส่วนเดียว อีกอย่างหนึ่งพึงจำแนกแก้อย่างที่ ๓ พึงย้อนถาม ส่วนที่ ๔ พึงงดแก้.

ก็ภิกษุใดรู้การที่จะกล่าวแก้ปัญหา เหล่านั้นในฐานะนั้นๆ ท่านเรียกภิกษุเช่น นั้นว่า ผู้ฉลาดในปัญหา ๔.

บัณฑิตผู้มั่นคง ยากที่ใครจะเทียบ ยากที่ใครจะข่มเป็นผู้ลึกซึ้ง ยากที่ใครจะทำลาย อนึ่งเป็นผู้ฉลาดในทางเจริญทางเสื่อมและในประโยชน์ ๒ ฝ่าย เว้นทาง เสื่อมทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาทางเจริญทางที่เป็นประโยชน์ เพราะได้ประโยชน์ จึงได้ชื่อว่า บัณฑิต.

จบปัญหาสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 160

อรรถกาปัญหาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัญหาสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โย จ เนสํ ตตฺถ ตตฺถ ชานาติ อนุธมฺมตํ ความว่า ภิกษุใดรู้การกล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้น ในฐานะนั้นๆ. บทว่า จตุปญฺหสฺส กุสโล อาหุ ภิกฺขุํ ติถาวิธํ ความว่า ท่านเรียกภิกษุผู้เช่นนั้น อย่างนี้ว่า ผู้ฉลาดในปัญหาทั้ง ๔. บทว่า ทุราสโท ทุปฺปสโห ความว่า อันใครๆ ไม่อาจจะกระทบหรือข่มเอาได้. บทว่า คมฺภีโร ความว่า เป็นผู้ลึกซึ้ง เหมือนมหาสมุทรสีทันดร ๗ สมุทร. บทว่า ทุปฺปธํสิโย ได้แก่ ผู้ที่ใครๆ เปลื้องได้ยาก อธิบายว่า ใครๆ ไม่อาจจะให้เขาปล่อยการยึดถือข้อที่เขาถือแล้วได้. บทว่า อตฺเถ อนตฺเถ จ ได้แก่ ในความเจริญและในความเสื่อม. บทว่า อตฺถาภิสมยา ได้แก่ เพราะรวมเอาความเจริญไว้ได้. บทว่า ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา เขาเรียกกันอย่างนี้ว่า ผู้นี้ เป็นบัณฑิต ดังนี้.

จบอรรถกถาปัญหาสูตรที่ ๒