พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. วิสาขสูตร ว่าด้วยวิสาขาปัญจาลิบุตรแสดงธรรมมิกถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38838
อ่าน  377

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 170

ปฐมปัณณาสก์

โรหิตัสสวรรคที่ ๕

๘. วิสาขสูตร

ว่าด้วยวิสาขาปัญจาลิบุตรแสดงธรรมมิกถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 170

๘. วิสาขสูตร

ว่าด้วยวิสาขาปัญจาลิบุตรแสดงธรรมมิกถา

[๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี คราวนั้นท่านวิสาขะ ปัญจาลิบุตร แสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญให้ร่าเริงอยู่ในอุปัฏฐานศาลา ด้วยถ้อยคำของชาวเมือง สละสลวยปราศจากโทษ ทำให้เข้าใจความได้ชัดเจน นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ

ครั้งนั้น เวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่ประทับหลีกเร้นไปอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้แล้ว ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครหนอแสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยคำของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ทำให้เข้าใจความ ได้ชัดเจน นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านวิสาขะ ปัญจาลิบุตร พระพุทธเจ้าข้า ...

พ. จึงตรัสประทานสาธุการกะท่านวิสาขะว่า สาธุ สาธุ วิสาขะ เธอแสดงธรรมิกถาให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้งให้สมาทานให้อาจหาญให้ร่าเริง ด้วยถ้อยคำของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ทำให้เข้าใจความได้ชัดเจน นับเนื่องในนิพพานไม่อิงวัฏฏะ ดีนักแล.

คนฉลาดปนกับหมู่คนเขลา เมื่อไม่พูดออกมา ก็ไม่มีใครรู้จัก ต่อเมื่อพูดแสดงอมตบท คนทั้งหลายจงรู้ บุคคลพึงส่องธรรมให้สว่าง พึงยกธงของฤษีไว้ ฤษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง แท้จริง ธรรมเป็นธงของพวกฤษี.

จบวิสาขสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 171

อรรถกถาวิสาขสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิสาขสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปญฺจาลิปุตฺโต คือเป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อปัญจาลี. บทว่า โปริยา วาจาย คือ ด้วยวาจาที่บริบูรณ์. บทว่า วิสฺสฏฺาย คือ ลิ้นไม่พัน. บทว่า อเนฬคลาย ความว่า ไม่มีโทษ ไม่ตุกุกตะกัก พยัญชนะไม่เพี้ยน. บทว่า ปริยาปนฺนาย คือ ที่นับเนื่องในวิวัฏฏะ. บทว่า อนิสฺสิตาย คือ ไม่อาศัยวัฏฏะ. อธิบายว่า กล่าวถ้อยคำให้อาศัยวิวัฏฏะเท่านั้น ไม่กล่าวถ้อยคำให้อาศัยวัฏฏะ.

บทว่า นาภาสมานํ คือเมื่อไม่พูดก็ไม่มีใครรู้จัก บทว่า อมตํ ปทํ ได้แก่ บทคือพระนิพพาน. บทว่า ภาสเย ได้แก่ พึงทำให้กระจ่าง (พูด). บทว่า โชตเย เป็นไวพจน์ของบทว่า ภาสเย นั้นเอง. บทว่า ปคฺคณฺเห อิสีนํ ธชํ ความว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง เรียกชื่อว่า ธงของพวกฤษี เพราะอรรถว่า ฟุ้งขจรไป. อธิบายว่า พึงยกย่องโลกุตรธรรมนั้น คือ พึงกล่าว ยกให้สูง. พวกฤษี ชื่อว่ามีสุภาษิตเป็นธง เพราะอรรถว่า มีสุภาษิตที่แสดงโลกุตรธรรม ๙ เป็นธง. บทว่า อิสิโย ได้แก่ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า ธมฺโม หิ อิสีนํ ธโช ความว่า โลกุตรธรรม ชื่อว่า เป็นธงของพวกฤษี โดยนัยอันกล่าวแล้วในหนหลังแล.

จบอรรถกถาวิสาขสูตรที่ ๘