พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สัปปุริสสูตร ว่าด้วยธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38863
อ่าน  377

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 228

ทุติยปัณณาสก์

อปัณณกวรรคที่ ๓

๓. สัปปุริสสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 228

๓. สัปปุริสสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

[๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ

อสัตบุรุษในโลกนี้ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของผู้อื่น แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงถูกถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่องอันเป็นข้อเสียหายของผู้อื่นเสียอย่างพิสดารเต็มที่ไม่ให้บกพร่อง ไม่หน่วงเหนี่ยวทีเดียว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของผู้อื่น แม้ถูกถาม ก็ไม่เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเช้า (ไม่มีทางหลีก) ก็เล่าเกียรติคุณของผู้อื่นอย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มปาก อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของตน แม้ถูกถามก็ไม่เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเข้า ก็เล่าข้อเสียหายของตน อย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มปาก อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของตน แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้นขึ้นเอง จะกล่าวอะไรถึงมีคนถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่องที่เป็นเกียรติคุณของตนอย่างพิสดารเต็มที่ไม่ให้บกพร่อง ไม่หน่วงเหนี่ยวทีเดียว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 229

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึง ทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการ คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของผู้อื่น แม้ถูกถามก็ไม่ เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเข้าก็เล่าเรื่องอันเป็นข้อเสียหายของผู้อื่นอย่างลัดไม่เต็มที่ นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของผู้อื่น แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงมีใครถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่อง เกียรติคุณของผู้อื่นอย่างถี่ถ้วนเต็มที่ไม่มีหน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของตน แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงมีใครถาม มีใครซักถามเข้าย่อมเล่าเรื่องเสียหายของตนอย่างถี่ถ้วนเต็มที่ไม่มีหน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของตน แม้มีใครถามก็ไม่เผยเรื่องนั้น แต่เมื่อถูกซักถามจังหน้าเข้าก็เล่าเรื่องเกียรติคุณของตนอย่างลัดไม่เต็มปาก นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

ภิกษุทั้งหลาย หญิงสาว ในคืนหรือวันที่เขารับตัวมาอยู่ (เป็นสะใภ้) ย่อมมีความละอายกลัวเกรงมาก ทั้งในแม่ผัวทั้งในพ่อผัวทั้งในผัว โดยที่สุดในบ่าวและคนงานคนอาศัย ต่อมาพอคุ้นกันเข้า หญิงนั้นตะเพิดเอาแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง ผัวบ้างก็ได้ว่า ไป รู้จักอะไร ดังนี้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ในคืนหรือวันที่ออกจากเรือนมาบวช ย่อมมีหิริโอตตัปปะมาก ในภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุณีทั้งหลาย ในอุบาสกทั้งหลาย ในอุบาสิกาทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 230

โดยที่สุดในอารามิกะและสมณุทเทส ต่อมาพอคุ้นกันเข้า ภิกษุนั้นตะเพิดเอาอาจารย์บ้าง อุปัชฌาย์บ้างก็ได้ว่า ไป รู้จักอะไร ดังนี้ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกว่า เราทั้งหลายจักมีใจเสมอ ด้วยสะใภ้ใหม่ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบสัปปุริสสูตรที่ ๓

อรรถกถาสัปปุริสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัปปุริสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อวณฺโณ ได้แก่ มิใช่คุณ. บทว่า ปาตุกโรติ ได้แก่ บอกทำให้ปรากฏ. บทว่า ปญฺหาภินีโต ได้แก่ ถูกนำมาซักถาม. บทว่า อหาเปตฺวา อลมฺเพตฺวา ได้แก่ ทำไม่ให้ลด ไม่ให้หย่อนทีเดียว. อนึ่ง ในข้อนี้ อสัตบุรุษ ย่อมปกปิดความเสียหายของตน เพราะเป็นผู้ปรารถนาลามก สัตบุรุษ ย่อมปกปิดเกียรติคุณของตน เพราะเป็นผู้ละอาย. เพราะเหตุที่ อสัตบุรุษขาดหิริโอตัปปะ อยู่ร่วมกันก็ดูหมิ่น ส่วนสัตบุรุษประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ อยู่ร่วมกันก็ไม่ดูหมิ่น ฉะนั้น บัดนี้ เพื่อทรงแสดงสาธก ความเป็นสัตบุรุษ เปรียบด้วยสะใภ้ใหม่ จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว วธุกา เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า วธุกา ได้แก่ สะใภ้. บทว่า ติพฺพํ คือมาก. บทที่เหลือในสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสัปปุริสสูตรที่ ๓