พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ขันธสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38880
อ่าน  352

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 260

ทุติยปัณณาสก์

มจลวรรคที่ ๔

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยสมณะ ๔ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 260

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก

[๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ ฯลฯ คือ

สมณมจโล สมณะผู้ไม่หวั่นไหว

สมณปุณฺฑรีโก สมณะบุณฑริก

สมณปทุโม สมณะปทุม

สมเณสุ สมณสุขุมาโล สมณะสุขุมาลในหมู่สมณะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 261

ก็บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหวเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัย นี้เป็นพระเสขะ ยังไม่สำเร็จมโนรถ ยังปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยมอยู่ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกเป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็น ผู้เล็งเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมดับไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าอย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับไปแห่งรูป อย่างนี้เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ฯลฯ อย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วย (นาม) กาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริก

บุคคลเป็นสมณะปทุมเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้เล็งเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า อย่างนี้รูป ฯลฯ อย่างนี้ความดับไปแห่งเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ทั้งได้ถูกต้อง วิโมกข์ ๘ ด้วย (นาม) กายด้วย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะปทุม

บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลในหมู่สมณะเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บริโภคจีวร โดยมากมีผู้วิงวอน (ให้บริโภค) ที่บริโภคโดยไม่มีผู้วิงวอน (ให้บริโภค) มีน้อย ฯลฯ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลในหมู่สมณะ

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล บุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก.

จบขันธสูตรที่ ๑๐

จบมจลวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 262

อรรถกถาขันธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในขันธสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

วาระที่ ๑ ตรัสพระเสขบุคคล ผู้ยังไม่เริ่มความเพียรเพื่อพระอรหัต ยังดำรงอยู่ด้วยความประมาท. วาระที่ ๒ ตรัสพระเสขบุคคล ผู้ยังไม่ได้ฌาน แต่เริ่มวิปัสสนาอยู่ด้วยความไม่ประมาท. วาระที่ ๓ ตรัสพระเสขบุคคล ผู้เริ่มวิปัสสนาอยู่ด้วยความไม่ประมาท ได้วิโมกข์ ๘. วาระที่ ๔ ตรัสพระขีณาสพ ผู้เป็นสุขุมาลเป็นอย่างยิ่งแล.

จบอรรถกถาขันธสูตรที่ ๑๐

จบมจลวรรควรรณนาที่ ๔

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาณาติปาตสูตร ๒. มุสาสูตร ๓. วัณณสูตร ๔. โกธสูตร ๕. ตมสูตร ๖. โอณตสูตร ๗. ปุตตสูตร ๘. สังโยชนสูตร ๙. ทิฏฐิสูตร ๑๐. ขันธสูตร และอรรถกถา.