พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ฐานสูตร เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38905
อ่าน  410

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 310

ตติยปัณณาสก์

เกสีวรรคที่ ๒

๕. ฐานสูตร

เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 310

๕. ฐานสูตร

เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ ๔ ประการ

[๑๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน? คือ เหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย เหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ๑ เหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ๑ เหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเหตุ ๔ ประการนั้น เหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควรทำโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ ย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุที่เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควรทำโดยส่วนทั้งสองทีเดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ พึงทราบคนพาลและบัณฑิตได้ ในเพราะกำลังของบุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่การทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขากระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 311

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย พึงทราบคนพาลและบัณฑิต ในเพราะกำลังของบุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขากระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่กระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว คือ ย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และโดยเหตุที่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้แล.

จบฐานสูตรที่ ๕

อรรถกถาฐานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในฐานสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า านานิ ได้แก่ เหตุ. บทว่า อนตฺถาย สํวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่ความเจริญ. ก็ในคำนี้ พึงทราบกุศลกรรมที่สัมปยุตด้วยโสมนัส ในบทเป็นต้นอย่างนี้ว่า บาปกรรมมีทุกข์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 312

มีความคับแค้นซึ่งต่างโดยขุดบ่อจับปลาตัดช่องของเขาเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นฐานะที่ ๑ การงานมีการทิ้งขยะดอกไม้เป็นต้น และการงานมีการโบกปูนขาว มุงเรือนและกวาดสถานที่ไม่สะอาดเป็นต้น สำหรับคฤหัสถ์ผู้เลี้ยงชีพโดยชอบ พึงทราบว่าเป็นฐานะที่ ๒ กรรมมีการดื่มสุราลูบไล้ของหอมและการประดับดอกไม้เป็นต้น และกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น ที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจความยินดี พึงทราบว่า เป็นฐานะที่ ๓ กุศลกรรมที่ประกอบด้วยโสมนัสในกิจกรรมเป็นต้นอย่างนี้ คือ การนุ่งห่มผ้าสะอาด ถือเอาดอกไม้ และของหอมเป็นต้นไปในเวลาไปฟังธรรม การไหว้พระเจดีย์ การไหว้ต้นโพธิ์ การฟังธรรมกถาอันไพเราะ การสมาทานศีล ๕ พึงทราบว่า เป็นฐานะที่ ๔. บทว่า ปุริสถาเม ความว่า ในเรี่ยวแรงคือญาณของบุรุษ. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้แล.

จบอรรถกถาฐานสูตรที่ ๕