๖. กัปปสูตร ว่าด้วยอสงไขย ๔ แห่งกัป
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 371
จตุตถปัณณาสก์
อินทริยวรรคที่ ๑
๖. กัปปสูตร
ว่าด้วยอสงไขย ๔ แห่งกัป
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 371
๖. กัปปสูตร
ว่าด้วยอสงไขย ๔ แห่งกัป
[๑๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขย (คือระยะกาลที่นานนับไม่ได้) แห่งกัป ๔ นี้ อสงไขย ๔ เป็นไฉน คือ
๑. สังวัฏกัป คือระยะกาลเมื่อกัปเสื่อม ยากที่จะนับว่าเท่านั้นปี เท่านั้นร้อยปี เท่านั้นพันปี หรือเท่านั้นแสนปี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 372
๒. สังกัฏฏัฏฐายีกัป คือระยะกาลเมื่อกัปอยู่ในระหว่างพินาศ ก็ยากที่จะนับว่าเท่านั้นปี เท่านั้นร้อยปี เท่านั้นพันปี หรือเท่านั้นแสนปี
๓. วิวัฏกัป คือระยะกาลเมื่อกัปกลับเจริญ ก็ยากที่จะนับว่าเท่านั้นปี เท่านั้นร้อยปี เท่านั้นพันปี หรือเท่านั้นแสนปี
๔. วิวัฏฏัฏฐายีกัป คือระยะกาลเมื่อกัปอยู่ในระหว่างเจริญ ก็ยากที่จะนับว่าเท่านั้นปี เท่านั้นร้อยปี เท่านั้นพันปี หรือเท่านั้นแสนปี
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล อสงไขย ๔ แห่งกัป.
จบกัปปสูตรที่ ๖
อรรถกถากัปปสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในกัปปสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
ในบทว่า สํวฏฺโฏ นี้ ความเสื่อม ๓ คือ ความเสื่อมด้วยน้ำ ๑ ความเสื่อมด้วยไฟ ๑ ความเสื่อมด้วยลม ๑. เขตความเสื่อมมี ๓ คือ อาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม. ในคราวที่กัปเสื่อมด้วยไฟ ไฟย่อมไหม้ภายใต้แต่อาภัสสรพรหม. ในคราวที่เสื่อมด้วยน้ำ น้ำย่อมละลายแต่ภายใต้สุภกิณหพรหม. ในคราวทรามเสื่อมด้วยลม ลมย่อมทำลายภายใต้แต่เวหัปผลพรหม. แต่เมื่อกล่าวโดยพิสดาร พุทธเขตแห่งหนึ่งย่อมพินาศได้ทุกเมื่อ. นี้เป็นความสังเขปในที่นี้. ส่วนเรื่องพิสดาร ผู้ศึกษาพึงทราบได้ โดยนัยอันกล่าวไว้แล้ว ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
จบอรรถกถากัปปสูตรที่ ๖