๓. อสุภสูตร ว่าด้วยปฏิปทา ๔
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 389
จตุตถปัณณาสก์
ปฏิปทาวรรคที่ ๒
๓. อสุภสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 389
๓. อสุภสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา ๔
[๑๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ นี้ ฯลฯ คือ
ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 390
ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้าเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความไม่งาม ในร่างกาย มีความสำคัญความปฏิกูล ในอาหารมีความสำคัญไม่น่าเพลิดเพลินยินดี ในโลกทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง อนึ่ง ตั้งมรณสัญญา (กำหนดความตาย) ไว้อย่างดีในภายใน ภิกษุนั้นอาศัยเสขพละ (ธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ) ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา อยู่ อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเธออ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อน เธอย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า.
ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็วเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความไม่งาม ในร่างกาย มีความสำคัญความปฏิกูล ในอาหารมีความสำคัญ ความไม่น่าเพลิดเพลินยินดี ในโลกทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง อนึ่ง ตั้งมรณสัญญา (กำหนดความตาย) ไว้อย่างดี ในภายใน ภิกษุอันอาศัยเสขพละ ๕ ประการ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา อยู่ อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเธอแก่กล้าเพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า เธอย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว.
ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้าเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้ปฐมฌาน ฯลฯ ได้ทุติยฌาน ฯลฯ ได้ตติยฌาน ฯลฯ ได้จตุตถฌาน ฯลฯ ภิกษุนั้นอาศัยเสขพละ ๕ ประการคือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้อยู่ แต่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเธออ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อน เธอย่อมบรรลุอนันตริยคุณ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 391
ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้ปฐมฌาน ฯลฯ ได้ทุติยฌาน ฯลฯ ได้ตติยฌาน ฯลฯ ได้จตุตถฌาน ฯลฯ ภิกษุนั้นอาศัยเสขพละ ๕ ประการ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้อยู่ ทั้งอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเธอก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า เธอย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลปฏิปทา ๔.
จบอสุภสูตรที่ ๓
อรรถกถาอสุภสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอสุภสูตร ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็น ในกรชกายของตนว่าไม่งาม ด้วยการเข้าไปเปรียบเทียบกับอสุภะ ๑๐ ที่ตนเห็นแล้วในภายนอกโดยนัยนี้ว่า นั่นฉันใด นี้ก็ฉันนั้น อธิบายว่า เห็นกายของตนด้วยญาณ โดยเป็นสิ่งไม่งาม โดยเป็นสิ่งปฏิกูล. บทว่า อาหาเร ปฏิกฺกุลสญฺี ความว่า มีความสำคัญในกวฬีการาหาร ว่าเป็นปฏิกูลด้วย อำนาจปฏิกูล ๙. บทว่า สพฺพโลเก อนภิรตสญฺี ความว่า ประกอบด้วยความไม่น่ายินดี คือด้วยสัญญาว่าน่าเอือมระอา ในโลกสันนิวาสอันเป็น ไตรธาตุ แม้ทั้งหมด. บทว่า สพฺพสํขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี ความว่า พิจารณาเห็นสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมด โดยความเป็นของไม่เที่ยง.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 392
บทว่า มรณสญฺา ได้แก่ สัญญาอันเกิดขึ้นเพราะปรารภความตาย. บทว่า อชฺฌตฺตํ สุปฏฺิตา โหติ ได้แก่ เข้าไปตั้งไว้ด้วยดีในภายในกายของตน. ท่านกล่าววิปัสสนาอันมีกำลังด้วยเหตุเพียงเท่านี้. บทว่า เสกฺขพลานิ ได้แก่ กำลังของพระผู้ยังต้องศึกษา. คำที่เหลือในบทนี้ง่ายทั้งนั้นโดยอำนาจบาลี. ก็บทว่า อสุภานุปสฺสี เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงปฏิปทาลำบาก ปฐมฌานเป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงปฏิปทาสะดวก. ด้วยว่าอสุภะเป็นต้น มีปฏิกูลเป็นอารมณ์. ก็ตามปกติจิตที่ใฝ่รักย่อมคิดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะเจริญอสุภะเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาลำบาก. ปฐมฌานเป็นต้น เป็นสุขประณีต เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติปฐมฌานเป็นต้น เหล่านั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาสะดวก.
ในข้อนี้มีอุปมาอันเป็นสาธารณะดังต่อไปนี้ จริงอยู่ บุรุษผู้เข้าสงคราม ทำซุ้มแผ่นกระดานแล้วสอดอาวุธ ๕ เข้าสู่สงความ เขาประสงค์จะพักในระหว่าง จึงเข้าไปยังซุ้มแผ่นกระดานพักผ่อน และดื่มน้ำบริโภคอาหารเป็นต้น จากนั้น เขาก็เข้าสู่สงความทำการรบต่อไป. ในข้ออุปมานั้นพึงเห็นว่า การสงครามกับกิเลสดุจเข้าสงคราม กำลังเป็นที่อาศัย ๕ ดุจซุ้มแผ่นกระดาน พระโยคาวจรดุจบุรุษเข้าสู่สงความ อินทรีย์ มีวิปัสสนาเป็นที่ ๕ ดุจเครื่องสอดอาวุธ ๕ เวลาเจริญวิปัสสนาดุจเวลาเข้าสงความ เวลาที่พระโยคาวจรเจริญวิปัสสนา ขณะจิตตุปบาทไม่มีความยินดี ก็อาศัยพละ ๕ ปลอบจิตให้ร่าเริง ดุจเวลาที่นักรบประสงค์จะพัก ก็เข้าไปซุ้มแผ่นกระดาน เวลาที่พระโยคาวจรครั้นปลอบจิตให้ร่าเริงด้วยพละ ๕ แล้วเจริญวิปัสสนาอีก ก็หันกลับมายึดพระอรหัตไว้ได้ พึงทราบเหมือนเวลาที่นักรบพักผ่อนกินดื่มแล้ว กลับเข้าสู่สงความต่อไป. ก็ในสูตรนี้ตรัสพละ และอินทรีย์คละกัน
จบอรรถกถาอสุภสูตรที่ ๓