พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ปฐมขมสูตร ว่าด้วยปฏิปทา ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38957
อ่าน  401

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 393

จตุตถปัณณาสก์

ปฏิปทาวรรคที่ ๒

๔. ปฐมขมสูตร

ว่าด้วยปฏิปทา ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 393

๔. ปฐมขมสูตร

ว่าด้วยปฏิปทา ๔

[๑๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ นี้ ปฏิปทา ๔ เป็นไฉน คือ

อกฺขมา ปฏิปทา ปฏิบัติไม่อดทน

ขมา ปฏิปทา ปฏิบัติอดทน

ทมา ปฏิปทา ปฏิบัติข่มใจ

สมา ปฏิปทา ปฏิบัติรำงับ

ปฏิบัติไม่อดทนเป็นไฉน? บุคคลบางคนเขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาโกรธ ย่อมโกรธตอบ เขาวิวาท ย่อมวิวาทตอบ นี้เรียกว่า ปฏิบัติไม่อดทน.

ปฏิบัติอดทนเป็นไฉน? บุคคลบางคน เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาโกรธ ไม่โกรธตอบ เขาวิวาท ไม่วิวาทตอบ นี้เรียกว่า ปฏิบัติอดทน.

ปฏิบัติข่มเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัย เห็นรูปด้วยตาแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ อภิชฌา โทมนัส อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์คือตา เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์คือตาอันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์คือตาอันนั้น รักษาอินทรีย์คือตา ถึงความสำรวมในอินทรีย์คือตา ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ. อภิชฌาโทมนัสอกุศลบาปธรรมทั้งหลายจะพึงไหลไปตามภิกษุ ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์ คือ หู จมูก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 394

ลิ้น กาย ใจอันนั้น รักษาอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่า ปฏิบัติข่มใจ

ปฏิบัติรำงับเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเอากามวิตกที่เกิดขึ้น ย่อมละเสีย ถ่ายถอนเสีย รำงับเสีย ทำให้หายสิ้นไปเสีย ทำให้ไม่มีในภายหลังอีก ไม่รับเอาพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ... วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ... อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดๆ ขึ้นแล้วไว้ ละเสีย ถ่ายถอนเสีย รำงับเสีย ทำให้หายสิ้นไปเสีย ทำให้ไม่มีในภายหลังอีก นี้เรียก ว่า ปฏิบัติรำงับ.

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ปฏิปทา ๔.

จบปฐมขมสูตรที่ ๔

อรรถกถาปฐมขมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมขมสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อกฺขมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้ไม่อดทน. บทว่า ขมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้อดทน. บทว่า ทมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้ฝึกอินทรีย์. บทว่า สมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้สงบอกุศลวิตก. บทว่า โรสนฺตํ ปฏิโรสติ ได้แก่ เขากระทบ ย่อมกระทบตอบ. บทว่า ภณฺฑนฺตํ ปฏิภณฺฑติ ได้แก่ เขาประหาร ย่อมประหารตอบ.

จบอรรถกถาปฐมขมสูตรที่ ๔