พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ราหุลสูตร ว่าด้วยตรัสสอนพระราหุลให้มนสิการธาตุกรรมฐาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38970
อ่าน  393

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 421

จตุตถปัณณาสก์

สัญเจตนิยวรรคที่ ๓

๗. ราหุลสูตร

ว่าด้วยตรัสสอนพระราหุลให้มนสิการธาตุกรรมฐาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 421

๗. ราหุลสูตร

ว่าด้วยตรัสสอนพระราหุลให้มนสิการธาตุกรรมฐาน

[๑๗๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล ปฐวีธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี ปฐวีธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าปฐวีธาตุเท่านั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 422

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ ดูก่อนราหุล อาโปธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อาโปธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าอาโปธาตุเท่านั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ ดูก่อนราหุล เตโชธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี เตโชธาตุนั้นก็เป็น แต่สักว่าเตโชธาตุเท่านั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในเตโชธาตุ ดูก่อนราหุล วาโยธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี วาโยธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าวาโยธาตุเท่านั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความ เป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ ดูก่อนราหุล เพราะเหตุที่ภิกษุพิจารณาเห็นว่ามิใช่ตัวตน ไม่เนื่องในตน ในธาตุ ๔ นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ตัดตัณหาได้แล้ว รื้อถอนสังโยชน์เสียได้ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วเพราะละมานะได้โดยชอบ.

จบราหุลสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 423

อรรถกถาราหุลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในราหุลสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อชฺฌตฺติกา ได้แก่ ปฐวีธาตุใน ๒๐ ส่วน มีผมเป็นต้น มีลักษณะแข็ง. บทว่า พาหิรา ได้แก่ พึงทราบปฐวีธาตุในแผ่นหินและภูเขาเป็นต้น อันไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ เป็นภายนอกมีลักษณะแข็ง. พึงทราบธาตุแม้ที่เหลือโดยนัยนี้. บทว่า เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เม โส อตฺตา (นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา) นี้ ท่านกล่าว ด้วยอำนาจการปฏิเสธความยึดถือ. ด้วยตัณหามานะและทิฏฐิ. บทว่า สมฺมปฺปญฺาย ทฏฺพฺพํ ได้แก่ พึงเห็นด้วยมรรคปัญญาโดยเหตุโดยการณ์.

บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ เห็นด้วยมรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา. บทว่า อจฺเฉชฺชิ ตณฺหํ ได้แก่ ตัดตัณหาที่พึงฆ่าด้วยมรรคพร้อมด้วยมูล. บทว่า วิวฏฺฏยิ สญฺโชนํ ได้แก่รื้อ คือเพิกถอนละสังโยชน์ ๑๐ อย่าง. บทว่า สมฺมามานาภิสมยา ได้แก่ เพราะละมานะ ๙ อย่าง โดยเหตุโดยการณ์. บทว่า อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ได้แก่ กระทำวัฏทุกข์ให้ขาดทาง อธิบายว่า กระทำแล้วยังตั้งอยู่ พระศาสดาตรัสวิปัสสนาไว้ในราหุลวาทสูตรในสังยุตตนิกาย ด้วยประการฉะนี้. แม้ในจูฬราหุโลวาทสูตรก็ตรัสวิปัสสนาไว้. ตรัสการเว้นจากมุสาวาทของภิกษุหนุ่มไว้ในราหุโลวาทสูตร ณ อัมพลัฏฐิการาม. ตรัสวิปัสสนาเท่านั้นในมหาราหุโลวาทสูตร. ตรัสจตุโกฏิกสุญญตาไว้ในอังคุคตรนิกายนี้.

จบอรรถกถาราหุลสูตรที่ ๗