พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. พราหมณสัจจสูตร ว่าด้วยสัจจะของพราหมณ์ในธรรมวินัย ๔ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38978
อ่าน  482

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 449

จตุตถปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔

๕. พราหมณสัจจสูตร

ว่าด้วยสัจจะของพราหมณ์ในธรรมวินัย ๔ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 449

๕. พราหมณสัจจสูตร

ว่าด้วยสัจจะของพราหมณ์ในธรรมวินัย ๔ อย่าง

[๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงมากด้วยกัน คือ ปริพาชกชื่ออันนภาระ ชื่อวธระ ชื่อสกุลุทายี และปริพาชกผู้มีชื่อเสียงเหล่าอื่น อาศัยอยู่ในปริพาชการามฝั่งแม่น้ำสัปปินี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น แล้วเสด็จเข้าไปทางปริพาชการามริมฝั่งแม่น้ำ สัปปินี สมัยนั้นแล ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น กำลังประชุมสนทนากันอยู่ว่า สัจจะของพราหมณ์แม้อย่างนี้ๆ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามปริพาชกเหล่านั้นว่า ดูก่อนปริพรชกทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และท่านทั้งหลายกำลังนั่งสนทนาอะไรกันค้างอยู่? ปริพาชกเหล่านั้นกราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายกำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ว่า สัจจะของพราหมณ์ แม้อย่างนี้ๆ.

ว่าด้วยสัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ

พ. ดูก่อนปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้ อันเรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๔ ประการเป็นไฉน? คือ พราหมณ์บางคนในโลกนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 450

เราเป็นผู้เสมอกับเขา เราเป็นผู้เลวกว่าเขา อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้วเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเอ็นดูอนุเคราะห์เหล่าสัตว์นั่นแหละ.

อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า กามทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ... อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกามทั้งหลายนั่นแหละ.

อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ภพทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ... อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับภพทั้งหลายนั่นแหละ ...

อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า เราย่อมไม่มีในอะไรๆ เราย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ อนึ่ง ใครๆ ย่อมไม่มีในอะไรๆ ความเป็นอะไรๆ ของใครๆ ย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของเรา เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เราเป็นผู้เสมอเขา เราเป็นผู้เลวกว่าเขา อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันหาความกังวลมิได้ทีเดียว ดูก่อนปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้แล อันเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว.

จบพราหมณสัจจสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 451

อรรถกถาพราหมณสัจจสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพราหมณสัจจสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พฺราหฺมณสจฺจานิ แปลว่า สัจจะของพราหมณ์ทั้งหลาย. บทว่า โส เตน น สมโณติ มญฺติ ความว่า โดยสัจจะนั้น พระขีณาสพนั้น ย่อมไม่สำคัญด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเราเป็นสมณะ ดังนี้. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ยเทว ตตฺถ สจฺจํ ตทภิญฺาย ความว่า สัจจะใดเป็นความจริงแท้ ไม่แปรผันในการปฏิบัตินั้นว่า สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ดังนี้. ด้วยบทนี้ ทรงทำวจีสัจไว้ในภายใน แสดงนิพพานเป็นปรมัตถสัจ. บทว่า ตทภิญฺาย ได้แก่ รู้สัจจะทั้งสองนั้น ด้วยปัญญาอันวิเศษยิ่ง. บทว่า อนุทยาย อนุกมฺปาย ปฏิปนฺโน โหติ ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเพื่อความเอ็นดู และเพื่อความอนุเคราะห์ อธิบายว่า เป็นผู้บำเพ็ญเต็มที่. บทว่า สพฺเพ กามา ได้แก่ วัตถุกามทั้งหมด กิเลสกามทั้งหมด. แม้ในปฏิปทาที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อิติ วทํ พฺราหฺมโณ สจฺจํ อาห ได้แก่ พราหมณ์ผู้เป็นขีณาสพ แม้กล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ชื่อว่ากล่าวจริงทั้งนั้น. บทว่า สพฺเพ ภวา ได้แก่ ภพ ๓ มีกามภพเป็นต้น.

ก็ในบทว่า นาหํ กวฺจินิ นี้ ตรัสสุญญตาความสูญไว้ ๔ เงื่อน จริงอยู่ พระขีณาสพนี้ไม่เห็นตนในที่ไหนๆ ว่าเราย่อมไม่มีในอะไรๆ. บทว่า กสฺสจิ กิญฺจนตสฺมึ ความว่าไม่เห็นตนของตน ที่พึงนำเข้าไปในความกังวล สำหรับใครอื่น อธิบายว่าไม่เห็นว่าพี่ชายควรสำคัญนำเข้าไปในฐานะพี่ชาย สหาย ในฐานะสหายหรือบริขารในฐานะบริขาร ดังนี้. ในบทว่า น จ มม กวฺจินิ นี้ เว้นมมศัพท์ไว้ก่อน มีความดังนี้ว่า พระขีณาสพไม่เห็นตนว่ามีกังวลอยู่ในสิ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 452

ไหนๆ ของใคร และความกังวลในสิ่งไหนๆ ในใคร บัดนี้ นำมมศัพท์มา มีความว่า ความกังวลในสิ่งไรๆ ไม่มีแก่เรา เพราะเหตุนั้น ผู้ใดไม่เห็นว่า ตนของคนอื่นย่อมมีแก่เราในความกังวลในสิ่งไหนๆ ผู้นั้นชื่อว่า ไม่เห็นตนของคนอื่นควรนำเข้ามาด้วยความกังวลนี้ ไม่ว่าในฐานะไรๆ คือ พี่ชายในฐานะเป็นพี่ชายของตน สหายในฐานะเป็นสหาย บริขารในฐานะเป็นบริขาร ดังนี้. เพราะเหตุที่พราหมณ์นี้เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจึงไม่เห็นตนในที่ไหนๆ ไม่เห็นตน ที่ควรนำเข้าไปในความกังวลของคนอื่น ไม่เห็นตนของคน อื่นที่ควรนำเข้าไปในความกังวลของตน. บทว่า อิติ วทํ พฺรหฺมโณ พึงทราบความว่า พราหมณ์ผู้เป็นขีณาสพ แม้กล่าวสุญญตาความสูญทั้ง ๔ เงื่อน ชื่อว่ากล่าวความจริงทั้งนั้น เพราะรู้แจ้งโดยชอบปฏิปทานั้นแล้ว มิได้กล่าวเท็จเลย ทั้งไม่สำคัญ เพราะตนละความสำคัญทั้งหลายในทุกวาระได้แล้ว.

บทว่า อากิญฺจญฺํเยว ปฏิปทํ ได้แก่ ปฏิปทาอันเว้นจากความกังวล ไม่มีห่วงใย ไม่ยึดถือนั้นเอง. บทว่า ปฏิปนฺโน โหติ ได้แก่ บำเพ็ญเต็มที่. บทว่า อิมานิ โข ปริพฺพาชกา ฯเปฯ ปเวทิตานิ ความว่า เรารู้สัจจะ ๔ เหล่านี้ของพราหมณ์ผู้มีบาปอันลอยแล้ว นอกไปจากสัจจะของท่านพราหมณ์ ที่ท่านกล่าวด้วยมรรค ๔ กิจ ๑๖ อย่าง แล้วจึงประกาศแสดงอย่างชัดแจ้ง ในสูตรนี้ตรัสวจีสัจอย่างเดียวสำหรับพระขีณาสพ ในฐานะแม้ ๔ แล.

จบอรรถกถาพราหมณสัจจสูตรที่ ๕