พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อุมมังคสูตร พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาของพระภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38979
อ่าน  441

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 453

จตุตถปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔

๖. อุมมังคสูตร

พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาของพระภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 453

๖. อุมมังคสูตร

พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาของพระภิกษุ

[๑๘๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้หรือ?

ภิก. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว.

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม?

พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ?

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 454

ภิก. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ ... เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม.

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแลบุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส

พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผ้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ หรือ?

ภิก. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า นี้ทุกข์ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความ. แห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขสมุทัยและได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่านี้ทุกขนิโรธ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำ ที่สดับนั้นด้วยปัญญา ดูก่อนภิกษุ บุคคลเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลสอย่าง นี้แล.

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 455

บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก?

พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้หรือ?

ภิก. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูก่อนภิกษุ บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล.

จบอุมมังคสูตรที่ ๖

อรรถกถาอุมมังคสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอุมมังคสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปริกสฺสติ ได้แก่ อันสิ่งอะไรคร่ามา. บทว่า อุมฺมงฺโค ได้แก่ ผุดขึ้น อธิบายว่า ไปด้วยปัญญา. อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานั่นเอง เรียกว่าอุมมังคะ เพราะอรรถกถาว่า ผุดขึ้น อุมมังคปัญญานั้น ชื่อว่าปฏิภาณ เพราะอรรถว่า แจ่มแจ้งทันที. บทว่า จิตฺตสฺส อุปฺปนฺนสฺส วสํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลเหล่าใด ย่อมตกอยู่ในอำนาจจิต พึงทราบการยึดถือของบุคคล

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 456

เหล่านั้นในเพราะอำนาจจิตนี้. บทว่า อตฺถมญฺาย ธมฺมมญฺาย ได้แก่ รู้อรรถและบาลี. บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน โหติ ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม คือ ปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น พร้อมด้วยศีลที่สมควรแก่โลกุตรธรรม. บทว่า นิพฺเพธิกปญฺโ ได้แก่ ปัญญาเป็นเครื่องชำแรก. บทว่า อิทํ ทุกฺขํ ท่านอธิบายว่า ขันธ์ห้าเป็นไปในภูมิสามที่เหลือ เว้นตัณหาเป็นทุกข์. บทว่า ปญฺาย คือด้วยมรรคปัญญา. บทว่า อยํ ทุกฺขสมุทโย ท่านอธิบายว่า ตัณหาเป็นมูลของวัฏฏะ เป็นเหตุเกิดทุกข์นั้น. แม้ในสองบทที่เหลือ พึงทราบเนื้อความโดยอุบายนี้. อรหัตตผล พึงทราบว่าตรัสด้วยการตอบปัญหาข้อที่ ๔.

จบอรรถกถาอุมมังคสูตรที่ ๖