พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อุโปสถสูตร พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญภิกษุบริษัท

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38983
อ่าน  395

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 465

จตุตถปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔

๑๐. อุโปสถสูตร

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญภิกษุบริษัท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 465

๑๐. อุโปสถสูตร

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญภิกษุบริษัท

[๑๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพารามประสาทของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งในวันอุโบสถ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นิ่งเงียบแล้ว ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัท

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 466

เช่นใดที่บุคคลหาได้ยาก แม้เพื่อจะเห็นในโลก ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทเช่นใดเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น แม้ของน้อยที่เขาให้ในบริษัทเช่นใด ย่อมเป็นของมาก ของมากที่เขาให้ในบริษัทเช่นใด ย่อมเป็นของมากยิ่งกว่า ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น การไปเพื่อจะดูบริษัทเช่นใด แม้จะนับด้วยโยชน์ ถึงจะต้องเอาเสบียงทางไปก็ควร ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น ภิกษุสงฆ์นี้เห็นปานนั้น คือ ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นเทพก็มี ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นพรหมก็มี ภิกษุทั้งหลายที่ถึงชั้นอาเนญชาก็มี ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นอริยะก็มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ? ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นเทพ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่. ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 467

ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้นอาเนญชา? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับสิ้นปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ไม่มี เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้นอาเนญชา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุ จึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ.

จบอุโปสถสูตรที่ ๑๐

จบโยธาชีวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 468

อรรถกถาอุโปสถสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอุโปสถสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตุณฺหีภูตํ ตุณฺหีภูตํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหลียวดูทางทิศใดๆ ทางทิศนั้นๆ ภิกษุสงฆ์นิ่งเงียบอยู่. บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า ทรงเหลียวดูด้วยพระจักษุอันเลื่อมใสแล้ว เกิดปราโมทย์ในธรรม จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยข้อปฏิบัติ เพราะทรงประสงค์จะยกย่องธรรม. บทว่า อปฺปลาปา ได้แก่ บริษัทเว้นการสนทนา. บทนอกนี้เป็นไวพจน์ของบทว่า อปฺปลาปา นั้นนั่นเอง. บทว่า สุทฺธา คือ หมดมลทิน. บทว่า สาเร ปติฏฺิตา ได้แก่ ตั้งอยู่ในธรรมสาระมีศีลสาระ เป็นต้น. บทว่า อลํ แปลว่า ควร. บทว่า โยชนคณนานิ ความว่า ระยะทางโยชน์หนึ่ง แม้ ๑๐ โยชน์ มากกว่านั้น ก็เรียกว่านับเป็นโยชน์. แต่ในที่นี้ประสงค์เอาร้อยโยชน์บ้าง พันโยชน์บ้าง. บทว่า ปุโฏเสนาปิ ได้แก่ เสบียงทาง เรียก ปุโฏสํ อธิบายว่า แม้จะต้องถือเอาเสบียงทางเข้าไปหาก็ควรแท้. บาลีว่า ปุฏํเสน ดังนี้ก็มี. เนื้อความของบทนั้นว่า ห่อของมีอยู่ที่บ่าของบุคคลนั้น เหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า มีห่ออยู่ที่บ่าด้วย ห่ออยู่ที่บ่านั้น. มีอธิบายว่า สะพายเสบียงไปดังนี้.

บัดนี้ ตรัสว่า สนฺติ ภิกฺขเว เป็นอาทิ เพื่อทรงแสดงว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายที่เห็นปานนี้ มีอยู่ในที่นี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทวปฺปตฺตา ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ถึงชั้นทิพวิหารที่เป็นเหตุเกิดเป็นอุปปัตติเทพ และชั้นพระอรหัตด้วยทิพวิหาร. บทว่า พฺรหมปฺปตฺตา ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ถึงชั้นพรหมวิหารเหตุสำเร็จเป็นพรหม ด้วยอรรถ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 469

ว่าไม่มีโทษ และชั้นพระอรหัตด้วยพรหมวิหาร. บทว่า อาเนญฺชปฺปตฺตา ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ถึงชั้นอาเนญชาเหตุสำเร็จเป็นความไม่หวั่นไหว และชั้นพระอรหัตด้วยอาเนญชา. บทว่า อริยปฺปตฺตา ความว่า ล่วงภาวะปุถุชน ถึงภาวะพระอริยะ.

ในบทว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ เทวปฺปตฺโต โหติ เป็นอาทิ มีวินิจฉัยดังนี้ ภิกษุตั้งอยู่ในจตุตถฌานที่เป็นรูปาพจร อย่างนี้แล้ว จึงกลับจิตไปบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าเป็นผู้ถึงชั้นเทพ. ภิกษุตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ กลับจิตไปบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าเป็นผู้ถึงชั้นพรหม. ตั้งอยู่ในอรูปฌาน ๔ กลับจิตไปบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าเป็นผู้ถึงชั้นอาเนญชา. มรรค ๔ และผล ๓ ตรัสด้วยสัจจะ มีบทว่า อิทํ ทุกฺขํ ดังนี้ เป็นอาทิ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้บรรลุอริยธรรมนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงชั้นอริยะ.

จบอรรถกถาอุโปสถสูตรที่ ๑๐

จบโยธาชีวรรควรรณนาที่ ๔

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โยธสูตร ๒. ปาฏิโภคสูตร ๓. สุตสูตร ๔. อภยสูตร ๕. พราหมณสัจจสูตร ๖. อุมมังคสูตร ๗. วัสสการสูตร ๘. อุปกสูตร ๙. สัจฉิกิริยสูตร ๑๐. อุโปสถสูตร และอรรถกถา.