เจตนาเกิดได้อย่างไร
ขอบพระคุณครับสำหรับคำตอบคำถามที่ผ่านมา อยากเรียนถามข้อมูลเพื่อความเข้าใจธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงครับ อย่างเรื่องจิตกับการรับรู้อารมณ์ของจิต ผมคิดว่าผมเข้าใจจากคำอธิบายพอสมควรและเป็นประโยชน์กับผมมากในการพิจารณาเพื่อปฏิบัติ แต่เรื่องการกระทำของมนุษย์หรือสัตว์ (การคิด การคำนวณ การสั่งร่างกายให้ทำงานตามใจต้องการ การตัดสินใจต่างๆ รวมไปถึงการบังคับตัวเองให้ถือศีล ละข้อห้ามต่างๆ ฯลฯ) ยังไม่เข้าใจว่าอะไรไปบังคับ หรือสั่งให้รูปร่างกายทำอย่างนั้น จนเกิดเป็นเจตนาในการกระทำดังกล่าวขึ้นมา และเกิดเป็นกรรมติดตามในครั้งต่อๆ ไป หรือทุกอากัปกริยาของมนุษย์เป็นเพียงแค่ผลจากกรรมเก่าครับ อย่างนั้นแสดงว่าเราทุกคนตกอยู่ใต้การกระทำ อันตัวเองเลี่ยงทำไม่ได้ (รวมทั้งการคิด การทำงาน การโต้ตอบของสมอง) อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเสี้ยววินาทีที่สมองต้องคิดไตร่ตรองก็เป็นผลจากกรรมก่อนหน้านั้น ทำให้เราต้องคิดแบบเลี่ยงไม่ได้ใช่หรือไม่ครับ
ถ้าความเข้าใจผมมีส่วนถูก แสดงว่าคนเราเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการกระทำให้หลุดจากกรรมเก่า (ทั้งกรรมดีกรรมชั่วและที่ไม่ใช่ทั้งดีและชั่ว) ได้เลยเพียงแต่เราไม่รู้ได้เท่านั้นว่ากรรมเก่าจะส่งผลให้เราต้องทำอะไรบ้างโดยละเอียดทุกขณะเวลา เหมือนที่ผมพยายามจะหาความจริงของธรรมมะขณะนี้ และได้สอบถามท่านอาจารย์แล้วท่านอาจารย์ก็ตอบมา ทั้งผมและอาจารย์ท่านต่างก็กระทำไปเพราะผลของกรรมเก่าเท่านั้นใช่หรือไม่ครับ การที่ท่านอาจารย์จะตอบคำถามหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับจิตของท่านอาจารย์ที่เกิดขึ้นแต่เป็นเพราะกรรมเดิมจะมีผลให้ท่านอาจารย์จะตอบหรือไม่ ใช่หรือไม่ครับ ขอบพระคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้า ครับ
ในคำสอนของพระพุทธเจ้าแสดงว่า ธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีผู้สร้าง ผู้บังคับ ผู้สั่งนามธรรมและรูปธรรม เกิดเพราะมีปัจจัย กรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวิบาก
ฉะนั้นทุกวันนี้ เราทุกคนเกิดมาส่วนหนึ่งรับผลของกรรมเก่า ส่วนหนึ่งกระทำกรรมใหม่ ส่วนที่รับผลของกรรม ได้แก่การเกิดเป็นมนุษย์ และทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้เป็นผลของกรรม เรียกว่า วิบาก ส่วนที่เป็นกรรมใหม่ ได้แก่การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ฉะนั้น ความคิดความไตร่ตรองรวมทั้งการกระทำหมดไม่ใช่ผลของกรรม
(๑๘๐) เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร
(๑๘๑) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต
จากพระพุทธพจน์ข้างต้น แสดงให้เห็นความสำคัญของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่เพียงแต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่ยังคิดนึกวิจิตรต่างๆ นานา
ฉะนั้น โลกของแต่ละคน จึงเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน จิตของบางคนก็สะสมกุศลไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ที่มากไปด้วยอกุศลธรรม จิตของบุคคลซึ่งสะสมกุศลไว้มากนั้นก็ยังเกิดเมตตา หรือกรุณา หรืออุเบกขาในบุคคลนั้นได้ ในขณะที่โลกของคนอื่นเป็นโลกของความชิงชัง ความไม่แช่มชื่น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ
ฉะนั้น แต่ละคนจึงเป็นโลกของตัวเองแต่ละโลก ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง ดูเหมือนว่าเราทุกคนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด แต่เพราะจิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคน โลกไหนจะดี โลกที่สะสมกุศลมากๆ พร้อมที่จะเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือโลกที่ชิงชัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง ซึ่งแม้ว่าจะเห็นบุคคลเดียวกัน รู้เรื่องบุคคลเดียวกัน แต่โลกของแต่ละคน จะเมตตา หรือชิงชังก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคนซึ่งสะสมมาต่างๆ กัน