๓. โสณกายนสูตร ว่าด้วยกรรมและวิบากของกรรม
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 587
วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์
กรรมวรรคที่ ๔
๓. โสณกายนสูตร
ว่าด้วยกรรมและวิบากของกรรม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 587
๓. โสณกายนสูตร
ว่าด้วยกรรมและวิบากของกรรม
[๒๓๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อสิขาโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ หลายวันมาแล้ว โสณกายนมาณพไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า พระสมณโคดมย่อมทรงบัญญัติการไม่กระทำกรรมทั้งปวง ก็แลเมื่อบัญญัติการไม่กระทำกรรมทั้งปวง ชื่อว่ากล่าวความขาดสูญแห่งโลก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ ดำรงอยู่ด้วยการก่อกรรมมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่รู้สึกว่าได้เห็นโสณกายนมาณพเลย ที่ไหนจะได้ปราศัยเห็นปานนี้กันเล่า ดูก่อนพราหมณ์ กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรมก็มี.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร... วจีสังขาร... มโนสังขารอันมีความเบียดเบียน... เขาอันผัสสะที่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความ เบียดเบียนเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เหมือนสัตว์นรก นี้เราเรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 588
ดูก่อนพราหมณ์ ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขาร... วจีสังขาร... มโนสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน... เขาอันผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทพสุภกิณหะ นี้เราเรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขาร... วจีสังขาร... มโนสังขารอันมี ความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง... เขาอันผัสสะอันมีความ เบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนา อันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน เหมือนมนุษย์ เทพบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เราเรียกว่า กรรม ทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน เจตนาใดเพื่อละกรรมดำมีวิบากดำในบรรดากรรมเหล่านั้นก็ดี... นี้เราเรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
ดูก่อนพราหมณ์ กรรม ๔ ประการ นี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ.
จบโสณกายนสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 589
อรรถกถาโสณกายนสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในโสณกายนสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สิขาโมคฺคลฺลาโน ได้แก่ พราหมณ์โมคคัลลานโคตร มีแหยมใหญ่ตั้งอยู่กลางศีรษะ. บทว่า ปุริมานิ ได้แก่ วันก่อน ตั้งแต่วันที่ล่วงไปแล้ว. พึงทราบวันยิ่งกว่าวันก่อน จำเดิมแต่วันที่สองเป็นต้น. บทว่า โสณกายโน ได้แก่ อันเตวาสิกของพราหมณ์นั้นนั่นเอง. บทว่า กมฺมสจฺจายํ โภ โลโก ได้แก่ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ. บทว่า กมฺมสมารมฺภฏฺายี ความว่า โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยการก่อกรรม คือ เพิ่มพูนกรรมตั้งอยู่ มิใช่ไม่เพิ่มพูน. บทว่า อุจฺฉิชฺชติ คือแสดง. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วใน หนหลังนั่นแล.
จบอรรถกถาโสณกายนสูตรที่ ๓