พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สิกขานิสังสสูตร ว่าด้วยอานิสงส์การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  39043
อ่าน  397

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 607

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์

อาปัตติภยวรรคที่ ๕

๓. สิกขานิสังสสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 607

๓. สิกขานิสังสสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์

[๒๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด วิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างไร สิกขา คือ อภิสมาจาร เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้วสิกขา คือ อภิสมาจารเราบัญญัติแล้วแก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการใดๆ สาวก นั้น เป็นผู้มีปกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ต่าง ไม่ให้พร้อย ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายด้วยประการนั้นๆ.

อีกประการหนึ่ง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วยประการนั้นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างไร ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 608

ทั้งหมดนั้นอันสาวกพิจารณาด้วยปัญญา ด้วยประการนั้นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างไร ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้นเป็นธรรมอันวิมุตติถูกต้องแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่น อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่ บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่า จักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขาอันบริบูรณ์แล้วไว้ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญสิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่าจักอนุเคราะห์สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักพิจารณาธรรมที่เราไม่ได้พิจารณาแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ หรือว่าจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วได้ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้องด้วยวิมุตติ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่เรากล่าวว่า เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อัน มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.

จบสิกขานิสังสสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 609

อรรถกถาสิกขานิสังสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสิกขานิสังสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

พรหมจรรย์ ซึ่ง สิกขานิสังสะ เพราะมีสิกขาเป็นอานิสงส์. ชื่อ ปัญญุตตระ เพราะมีปัญญาเป็นยอด. ชื่อ วิมุตติสาระ เพราะมีวิมุตติเป็นแก่น. ชื่อ สตาธิปเตยยะ เพราะมีสติเป็นใหญ่. ท่านอธิบายไว้ว่า พรหมจรรย์ที่อยู่ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่อานิสงส์เป็นต้น อันได้แก่สิกขาเป็นต้นแม้เหล่านั้น. บทว่า อภิสมาจาริกา ได้แก่ สิกขาเนื่องด้วยอภิสมาจารอันสูงสุด. บทนี้เป็นชื่อของศีลที่ทรงบัญญัติไว้ด้วยเป็นข้อวัตรปฏิบัติ. บทว่า ตถา ตถา โส ตสฺสา สิกฺขาย ความว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ใคร่ศึกษาในสิกขาบทนั้น อย่างนั้นๆ. บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกา นี้ เป็นชื่อแห่ง มหาศีล ๔ อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์. บทว่า สพฺพโส แปลว่า โดยอาการทั้งปวง.

บทว่า ธมฺมา ได้แก่ สัจจธรรม ๔. บทว่า ปญฺาย สมเวกฺขิตา โหนฺติ ความว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอันสาวกพิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยมรรคปัญญากับสมาธิและวิปัสสนา. บทว่า วิมุตฺติยา ผุสิตา โหนฺติ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันสาวกถูกต้อง (บรรลุ) ด้วยผัสสะ คือญาณแห่งวิมุตติ คืออรหัตตผล. บทว่า อชฺฌตฺตํเยว สติ สุปฏฺิตา โหติ ความว่า สติอันสาวก เข้าไปตั้งไว้ด้วยดีในภายในตนนั้นเอง. บทว่า ปญฺาย อนุคฺคเหสฺสามิ ความว่า เราจักประคบ ประคองด้วยวิปัสสนาปัญญา. แม้ใน บทว่า ปญฺาย สมเวกฺขิสฺสามิ นี้ ท่านก็ประสงค์เอาแม้วิปัสสนาปัญญา แต่ในบทนี้ว่า ผุสิตํ วา ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ ปญฺาย อนุคฺคเหสฺสามิ (เราจักประดับประคองธรรมที่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในที่นั้นๆ) ท่านประสงค์เอามรรคปัญญาอย่างเดียว.

จบอรรถกถาสิกขานิสังสสูตรที่ ๓