พิธีกรรมสำหรับคนตาย
ตามที่ได้อ่านหนังสือ ที่ อ.สุจินต์ เขียนคือ คนตาย ไม่เหลือเยื่อใยใดๆ ในโลกนี้อีก และที่เข้าใจจากหนังสือก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร คนตายแล้วก็ไม่สามารถรับได้ แต่ว่ามีการปฏิบัติตามกันมา เช่น ทำพิธีสวดให้คนตาย ทำบุญ ๗ วัน ทำบุญ ๕๐ วัน ทำบุญ ๑๐๐ วัน ให้คนตาย ซึ่งดิฉันเอง ไม่มีความมั่นคงพอที่จะคิดได้ว่า จริงๆ แล้ว การทำพิธีกรรมเหล่านี้ คนตายจะได้รับหรือไม่ และโดยเฉพาะเป็นบิดาที่เพิ่งจะตาย เกรงว่าถ้าไม่ทำ บิดาก็จะไม่ได้รับ จึงขอความกรุณาได้ให้ความกระจ่างอีกครั้งด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
เมื่อบุคคลตายจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้ายังมีกิเลสกก็ต้องเกิดทันที ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดเป็นอะไร คนที่ตายแล้ว ศพย่อมเป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น (ไม่มีจิต เจตสิก) จึงไม่รู้อะไร เพราะเป็นเพียงรูปธรรม ไม่ว่าจะสวดหรืออุทิศกุศลให้ ศพ ย่อมไม่รู้อะไร ไม่ต่างจาก หินหรือท่อนไม้ แต่เมื่อคนที่ตายไป เมื่อมีกิเลสก็เกิดทันที ดังนั้นจุดประสงค์ที่ทำบุญให้คนที่ตายไปแล้ว ก็เพราะจะให้คนที่ตายไปแล้ว ไปเกิดในภพภูมิอื่น ได้รับส่วนกุศลที่ได้อุทิศไปให้ เช่น ไปเกิดเป็นเปรต เป็นต้น แต่การจะได้รับส่วนกุศลหรือไม่ได้รับ ขึ้นอยู่กับเหตุหลายประการ เช่น ภพภูมิที่เขาเกิด การอุทิศให้และคนนั้นจะอนุโมทนาหรือเปล่า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การทำบุญอุทิศกุศลให้ บิดา มารดาเป็นหน้าที่ของบุตรที่มีแก่มารดาบิดา ที่ล่วงลับไปแล้วครับ และที่สำคัญก็ควรอุทิศกุศลให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเราทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งครับ อนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เรื่องหน้าที่ของบุตรที่ควรทำกับ บิดา มารดา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 88
ข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร
[๑๙๙] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดา เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรธิดาพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์ตระกูล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ๑.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์