พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อุปัชฌายสูตร ว่าด้วยผู้ที่นิวรณ์ครอบงําจิตไม่ได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39124
อ่าน  456

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 135

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรคที่ ๑

๖. อุปัชฌายสูตร

ว่าด้วยผู้ที่นิวรณ์ครอบงําจิตไม่ได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 135

๖. อุปัชฌายสูตร

ว่าด้วยผู้ที่นิวรณ์ครอบงำจิตไม่ได้

[๕๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของผม ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริกนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 136

แก่ผม ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของผม ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ การที่กายของเธอหนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และเธอมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดังนี้ ดูก่อนภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอน ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ลุกขึ้นจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ภิกษุนั้นหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่ ไม่นานเท่าไรได้ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ก็แลภิกษุนั้น ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

ครั้งนั้น ภิกษุนั้น ได้บรรลุอรหัตแล้ว จึงเข้าไปหาอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมไม่ครอบ-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 137

งำจิตของผม ผมยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุนั้น พาภิกษุผู้สัทธิวิหาริกนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่ผม ถีนมิทธะย่อมไม่ครอบงำจิตของผม ผมยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และผมไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ การที่กายของเธอไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายย่อมแจ่มแจ้งแก่เธอ ถีนมิทธะ ย่อมไม่ครอบงำจิตของเธอ เธอยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และเธอไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีได้แก่ภิกษุ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ทุกวัน ทุกคืน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล.

จบอุปัชฌายสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 138

อรรถกถาอุปัชฌายสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอุปัชฌายสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มธุรกชาโต แปลว่า มีความหนักเกิดขึ้น. บทว่า ทิสา จ เม น ปกฺขายนฺติ ความว่า ภิกษุกล่าวว่า ทิศใหญ่ ๔ ทิศ และทิศน้อย ๔ ทิศ ไม่ปรากฏแก่กระผม. บทว่า ธมฺมา จ มํ นปฺปฏิภนฺติ ความว่า แม้ธรรมคือสมถะ และวิปัสสนา ก็ไม่ปรากฏแก่กระผม. บทว่า อนภิรโต จ พฺรหฺมจริยํ จรามิ ความว่า กระผมเป็นผู้กระสันแล้ว อยู่ประพฤติพรหมจรรย์. บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า อุปัชฌาย์ฟังถ้อยคำของภิกษุนั้นแล้ว คิดว่า ภิกษุนี้เป็นพุทธเวไนยบุคคล จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลเหตุการณ์นั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า อวิปสฺสกสฺส กุสลานํ ธมฺมานํ ความว่า ผู้ไม่เห็นแจ้งอยู่ ซึ่งธรรมอันเป็นกุศล คือไม่แสวงหา ไม่เสาะหาอยู่. บทว่า โพธิปกฺขิกานํ ได้แก่ ธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น.

จบอรรถกถา อุปัชฌายสูตรที่ ๖