๗. ปฐมอนาคตสูตร ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 187
ทุติยปัณณาสก์
โยธาชีววรรคที่ ๓
๗. ปฐมอนาคตสูตร
ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 187
๗. ปฐมอนาคตสูตร
ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
[๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 188
ภิกษุผู้อยู่ป่าในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เพราะการกัดต่อยแห่งสัตว์เหล่านั้น เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรม ที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๑ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรม ที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพลาดล้มลง ภัตตาหารที่ฉันแล้วไม่ย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะพึงกำเริบ หรือลมมีพิษเพียงดังศัสตราพึงกำเริบ เพราะเหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้อยู่ป่าเห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๒ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ...
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพบสัตว์ร้าย คือ สีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หรือเสือดาว สัตว์เหล่านั้น พึงทำร้ายเราถึงตาย เพราะการทำร้ายนั้น เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ...
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ในป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว เราพึงพบคนร้าย ผู้มีกรรมอันทำแล้ว หรือมีกรรมยังไม่ได้ทำ คนร้ายเหล่านั้น พึงปลงเราจากชีวิต เพราะการปลงนั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 189
เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ...
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เรา อยู่ในป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว ในป่าย่อมมีพวกอมนุษย์ดุร้าย อมนุษย์เหล่านั้น พึงปลงชีวิตเรา เพราะการปลงชีวิตนั้น เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่าเห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๕ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง.
จบปฐมอนาคตสูตรที่ ๗
อรรถกถาปฐมอนาคตสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในปฐมอนาคตสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อารญฺเกน แปลว่า ผู้อยู่ป่า. บทว่า อปตฺตสฺส ได้แก่ เพื่อถึงคุณวิเศษอันต่างโดยฌานวิปัสสนา และมรรคผลที่ยังไม่ถึง. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า โส มมสฺส อนฺตราโย ความว่า อันตรายแห่งชีวิต และอันตรายแห่งพรหมจรรย์นั้น จะพึงมีแก่เรา. อันตรายแห่ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 190
สวรรค์ และอันตรายแห่งมรรค จะพึงมีแก่ภิกษุผู้ทำกาลกิริยา [ตาย] เยี่ยงปุถุชน. คำว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถของตนเอง.
บทว่า วิริยํ อารภามิ ได้แก่ เราจะทำความเพียร ๒ อย่าง. บทว่า สตฺถกา ได้แก่ ลมอันตัดที่ต่อและเส้นเอ็น ดุจศัสตรา. บทว่า วาเฬหิ แปลว่า หยาบช้า. บทว่า มาณเวหิ ได้แก่ โจร. ในคำว่า กตกมฺเมหิ วา อกตกมฺเมหิ วา นี้ โจรทั้งหลายผู้ออกไปทำโจรกรรมแล้ว ชื่อว่า ผู้ทำกรรมแล้ว ผู้ออกไปเพื่อทำโจรกรรม [พยายาม] ชื่อว่า ผู้ยังไม่ได้ทำกรรม. บรรดาโจร ๒ พวกนั้น เหล่าโจรถือเอาเลือดในคอของสัตว์ทั้งหลาย กระทำการเซ่นเทวดา ชื่อว่า กระทำกรรมแล้ว เพราะกรรมสำเร็จแล้ว. เหล่าโจร กระทำการเซ่นเสียก่อน ด้วยคิดว่า กรรมของเราจักสำเร็จผล ด้วยวิธีอย่างนี้ ชื่อว่า ยังไม่กระทำกรรม. ทรงหมายเอาข้อนี้ จึงตรัสว่า โจรเหล่านั้น พึงปลิดชีวิตเราเสียดังนี้. บทว่า วาฬาอมนุสฺสา ได้แก่ เหล่าอมนุษย์มียักษ์ เป็นต้น ที่หยาบช้าร้ายกาจ.
จบอรรถกถา ปฐมอนาคตสูตรที่ ๗