๑๐. จตุตถอนาคตสูตร ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 198
ทุติยปัณณาสก์
โยธาชีววรรคที่ ๓
๑๐. จตุตถอนาคตสูตร
ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 198
๑๐. จตุตถอนาคตสูตร
ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ
[๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้น อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยเหล่านั้น ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม เมื่อชอบจีวรดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จักละเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร อันไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุจีวร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๑ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้น อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยนั้น.
อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม เมื่อชอบบิณฑบาตที่ดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ละเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสอันเลิศ ด้วยปลายลิ้น และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๒ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลาย พึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยนั้น.
อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักเป็นผู้ชอบเสนาสนะดีงาม เมื่อชอบเสนาสนะดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ละเสนาสนะอันสงัด คือป่า และป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 199
และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๓ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดใน บัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลาย พึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยนั้น.
อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วย ภิกษุณี นางสิกขมานา และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยภิกษุณี นางสิกขมานา และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้น จักเป็นผู้ไม่ยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง หรือจักบอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลาย พึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยนั้น.
อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้น จักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้ มีประการต่างๆ จักกระทำนิมิต แม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง ที่ปลายของเขียวบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๕ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้น อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ซึ่งยังไม่บังเกิด ในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้น อันเธอทั้งหลาย พึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายาม เพื่อละภัยเหล่านั้น.
จบจตุตถอนาคตสูตรที่ ๑๐
จบโยธาชีววรรคที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 200
อรรถกถาจตุตถอนาคตสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในจตุตถอนาคตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า กลฺยาณกามา แปลว่า ผู้มีความต้องการอันดี. บทว่า รสคฺคานิ ได้แก่ รสยอดเยี่ยม. บทว่า สํสฏฺา วิหริสฺสนฺติ ได้แก่ จักอยู่ระคนด้วยสังสัคคะการระคน ๕ อย่าง. บทว่า สนฺธิธิการปริโภคํ ได้แก่ บริโภคของที่ทำสันนิธิ [สั่งสมไว้ผิดวินัย]. ในบทว่า โอฬาริกํปิ นิมิตฺตํ นี้ ภิกษุขุดดินเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ชื่อว่า ทำนิมิตอย่างหยาบในแผ่นดิน. ภิกษุตัดเองก็ดี ใช้ให้เขาตัดก็ดี ซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ชื่อว่า ทำนิมิตอย่างหยาบในของสดเขียว. ภิกษุให้เขาถือเอาใบไม้ และผักเป็นต้น เก็บไว้เองก็ดี ใช้ให้เขาเก็บไว้ก็ดี ซึ่งผลไม้เพื่อเลี้ยงชีพ ก็ไม่จำต้องกล่าวกันละ. ในพระสูตร ทั้ง ๔ นี้ พระศาสดาตรัสความเจริญ และความเสื่อมในพระศาสนาไว้.
จบอรรถกถา จตุตถอนาคตสูตรที่ ๑๐
จบโยธาชีววรรควรรณนาที่ ๓
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปฐมเจโตวิมุตติสูตร ๒. ทุติยเจโตวิมุตติสูตร ๓. ปฐมธรรมวิหาริกสูตร ๔. ทุติยธรรมวิหาริกสูตร ๕. ปฐมโยธาชีวสูตร ๖. ทุติยโยธาชีวสูตร ๗. ปฐมอนาคตสูตร ๘. ทุติยอนาคตสูตร ๙. ตติยอนาคตสูตร ๑๐. จตุตถอนาคตสูตร และอรรถกถา.