พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. กุหกสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้พระเถระน่าเคารพและไม่น่าเคารพ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39153
อ่าน  399

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 203

ทุติยปัณณาสก์

เถรวรรคที่ ๔

๓. กุหกสูตร

ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้พระเถระน่าเคารพและไม่น่าเคารพ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 203

๓. กุหกสูตร

ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้พระเถระน่าเคารพและไม่น่าเคารพ

[๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เถระเป็นผู้พูดหลอกลวง ๑ เป็นผู้พูดหวังลาภ ๑ เป็นผู้พูดเลียบเคียงหาลาภ ๑ เป็นผู้พูดคาดคั้นให้บริจาค ๑ เป็นผู้แสวงหาลาภด้วยลาภ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระ ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 204

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เถระไม่เป็นผู้พูดหลอกลวง ๑ ไม่เป็นผู้พูดหวังลาภ ๑ ไม่เป็นผู้พูดเลียบเคียงหาลาภ ๑ ไม่เป็นผู้พูดคาดคั้นให้บริจาค ๑ ไม่เป็นผู้แสวงหาลาภ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบ ด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์.

จบกุหกสูตรที่ ๓

อรรถกถากุหกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในกุหกสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า กุหโก ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยกุหกวัตถุ (เรื่องหลอกลวง). บทว่า ลปโก ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยคำป้อยอที่อิงลาภ. บทว่า เนมิตฺติโก ได้แก่ เป็นผู้ทำท่าทีแห่งนิมิต [บอกใบ้]. บทว่า นิปฺเปสิโก ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยการพูดบีบบังคับ. บทว่า ลาเภน ลาภํ นิชิคึสิตา ได้แก่ เป็นผู้แสวงหาลาภด้วยลาภ. สุกกปักข์ (ธรรมฝ่ายดี) พึงทราบโดยความสลับกันกับที่กล่าวแล้ว.

จบอรรถกถา กุหกสูตรที่ ๓