๕. ผาสุวิหารสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 241
ตติยปัณณาสก์
ผาสุวิหารวรรคที่ ๑
๕. ผาสุวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 241
๕. ผาสุวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ
[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ มีศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่เกี่ยวเกาะ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ ทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออก เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ แห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล.
จบผาสุวิหารสูตรที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 242
อรรถกถาผาสุวิหารสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในผาสุวิหารสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่ กายกรรมที่ให้เป็นไปด้วยจิต ประกอบด้วยเมตตา. บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง. แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้แหละ.
บทว่า ยานิ ตานิ สีลานิ เป็นต้น ตรัสด้วยจตุปาริสุทธิศีล. บทว่า สมาธิสํวตฺตนิกานิ ได้แก่ อันทำให้มรรคสมาธิ และผลสมาธิบังเกิด. บทว่า สีลสามญฺคโต แปลว่า ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน อธิบายว่า เป็นผู้มีศีลเช่นเดียวกัน. บทว่า ตกฺกรสฺส ได้แก่ ผู้กระทำตามความเห็นนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความมีศีลเสมอกัน ตรัสทิฏฐิวิปัสสนา และสัมมาทิฏฐิ ในสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถา ผาสุวิหารสูตรที่ ๕