พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ทัตวาอวชานาติสูตร ว่าด้วยคนเลว ๕ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ต.ค. 2564
หมายเลข  39214
อ่าน  432

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 299

ตติยปัณณาสก์

ติกัณฑกีวรรคที่ ๕

๑. ทัตวาอวชานาติสูตร

ว่าด้วยคนเลว ๕ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 299

ติกัณฑกีวรรคที่ ๕

๑. ทัตวาอวชานาติสูตร

ว่าด้วยคนเลว ๕ จำพวก

[๑๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่น ๑ บุคคลย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน ๑ บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ๑ บุคคลเป็นผู้โลเล ๑ บุคคลเป็นผู้เขลาหลงงมงาย ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่นอย่างไร คือ บุคคลในโลกนี้ให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่บุคคล เขาย่อมคิดอย่างนี้ว่า เราให้ ผู้นี้รับ ดังนี้ ให้แล้วย่อมดูหมิ่นบุคคลนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่น อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกันอย่างไร คือ บุคคลในโลกนี้ อยู่ร่วมกับบุคคล สองสามปี ย่อมดูหมิ่นผู้นั้นเพราะอยู่ร่วมกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลย่อม ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกันอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เชื่อง่ายอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อเขากล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ย่อมน้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้เชื่อง่ายอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้โลเลอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลก เป็น ผู้มีศรัทธาเล็กน้อย มีความภักดีเล็กน้อย มีความรักเล็กน้อย มีความเลื่อมใสเล็กน้อย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้โลเลอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เขลาหลงงมงายอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้กุศลธรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 300

และอกุศลธรรม ย่อมไม่รู้ธรรมที่มีโทษ และไม่มีโทษ ย่อมไม่รู้ธรรมที่เลว และ ประณีต ย่อมไม่รู้ธรรมฝ่ายดำ และฝ่ายขาว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้เขลาหลงงมงาย อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.

จบทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑

ติกัณฑกีวรรควรรณนาที่ ๕

อรรคถกถาทัตวาอวชานาติสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๕ ดัง ต่อไปนี้ :-

บทว่า สํวาเสน ได้แก่ เพราะการอยู่ร่วมกัน. บทว่า อาเทยฺยมุโข ได้แก่ ตั้งหน้าเชื่อ อธิบายว่า ตั้งหน้ายึดถือ. บทว่า ตเมนํ ทตฺวา อวชานาติ ความว่า ย่อมดูแคลนอย่างนี้ว่า ผู้นี้รู้จักแต่จะรับสิ่งที่เราให้เท่านั้น. บทว่า ตเมนํ สํวาเสน อวชานาติ ความว่า เป็นผู้โกรธในใครๆ เพียงเล็กน้อยแล้ว มักกล่าวคำเป็นต้นว่า เรารู้กรรมที่ท่านทำไว้ เราทำอะไรอยู่ ตลอดกาลนานประมาณเท่านี้ เราพิจารณาทบทวนดูกรรมที่ท่านทำไว้ และไม่ได้ทำไว้มิใช่หรือ ทีนั้นคนนอกนี้คิดว่าโทษไรๆ ของเราจักมีเป็นแน่ จึงไม่สามารถจะโต้ตอบอะไรๆ ได้. บทว่า ตํ ขิปฺปญฺเว อธิมุจฺจิโต โหติ ความว่า บุคคลย่อมเชื่อทั้งคุณ และโทษนั้นทันทีทันใด. ก็บุคคลนี้ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า อาทิยนมุโข เพราะอรรถว่า เชื่อง่าย. แต่ในบาลีว่า อาธียมุโข

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 301

คือ ตั้งหน้าเชื่อ. อธิบายว่า ตั้งหน้าแต่จะรับทั้งคุณหรือโทษ ด้วยความเชื่อง่าย ดุจบ่อที่เขาขุดที่หนทางคอยรับแต่น้ำที่ไหลมาๆ.

บทว่า อิตฺตรสทฺโธ คือ มีศรัทธานิดหน่อย. ในบทว่า กุสลา กุสเล ธมฺเม น ชานาติ ความว่า ไม่รู้ธรรมเป็นกุศลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ไม่รู้ธรรมเป็นอกุศลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล. อนึ่ง ไม่รู้ธรรมมีโทษ คือธรรมที่เป็นไปกับโทษว่า ธรรมเหล่านี้มีโทษ ไม่รู้ธรรม ไม่มีโทษ คือธรรมที่ไม่เป็นไปกับโทษว่า ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมเลวว่า เลว ไม่รู้ธรรมประณีตว่า ประณีต. บทว่า กณฺหสุกฺกสปฺปฏิภาเค ได้แก่ บุคคลย่อมไม่รู้ว่า ธรรมฝ่ายดำเหล่านี้ ชื่อว่า เทียบกันเพราะห้ามกัน ธรรมฝ่ายขาวตั้งอยู่ และธรรมฝ่ายขาวเหล่านี้ ชื่อว่า เทียบกัน เพราะห้ามกัน ธรรมฝ่ายดำตั้งอยู่ดังนี้.

จบอรรถกถา ทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑