พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สัปปุริสทานสูตร ว่าด้วยทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39222
อ่าน  509

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 314

ตติยปัณณาสก์

ติกัณฑกีวรรคที่ ๕

๘. สัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 314

๘. สัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ

[๑๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล (บังเกิดขึ้น) ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการ ที่เกิดขึ้น ตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไป เพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล ครั้นให้ทานไม่กระทบตน และผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการ นี้แล.

จบสัปปุริสทานสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 315

อรรถกถาสัปปุริสทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในสัปปุริสทานสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สทฺธาย ได้แก่ เชื่อทาน และผลแห่งทาน. บทว่า กาเลน ได้แก่ ตามกาลที่เหมาะที่ควร. บทว่า อนุคฺคหจิตฺโต ได้แก่ มีจิตไม่เสียดาย คือ สละขาดไปเลย. บทว่า อนุปหจฺจ ได้แก่ ไม่กระทบ คือ ไม่ลบหลู่คุณทั้งหลาย. บทว่า กาลาคตา จสฺส อตฺถา ปริปูรา โหนฺติ ความว่า ประโยชนทั้งหลายเมื่อจะมาถึง มิได้มาเมื่อเจริญวัยแล้ว ย่อมมา ในเวลาที่เหมาะที่ควร ในปฐมวัยนั่นเอง ทั้งมากด้วย.

จบอรรถกถา สัปปุริสทานสูตรที่ ๘