พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. คิหิสูตร ว่าด้วยผลของการรักษาศีล ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39256
อ่าน  446

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 381

จตุตถปัณณาสก์

อุปาสกวรรคที่ ๓

๙. คิหิสูตร

ว่าด้วยผลของการรักษาศีล ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 381

๙. คิหิสูตร

ว่าด้วยผลของการรักษาศีล ๕

[๑๗๙] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แวดล้อมด้วยอุบาสก ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก ท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร ท่านทั้งหลาย พึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าขาว มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปกติได้ ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 382

อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการ และคฤหัสถ์ผู้นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตน ด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์ย่อมเป็นผู้มีการงานสำรวมดี ในสิกขาบท ๕ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนสารีบุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ การดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ คฤหัสถ์เป็นผู้มีการงานสำรวมดี ในสิกขาบท ๕ ประการนี้.

คฤหัสถ์เป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนสารีบุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งจิต ที่ยังไม่หมดจด เพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต ที่ยังไม่ผ่องแผ้ว.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว... อันวิญญูชนพึงจะรู้เฉพาะตน. นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๒...

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 383

ดีแล้ว... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๓...

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก เป็นผู้ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อสมาธิ นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งจิต ที่ยังไม่หมดจด เพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต ที่ยังไม่ผ่องแผ้ว คฤหัสถ์ผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้.

ดูก่อนสารีบุตร เธอทั้งหลาย พึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่ม ผ้าขาว มีการงาน สำรวมดี ในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปกติ ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้ และคฤหัสถ์นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตน ด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

บัณฑิตเห็นภัยในนรกแล้ว พึงเว้นบาปเสีย สมาทานอริยธรรมแล้ว พึงเว้นบาปเสีย ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อความพยายามมีอยู่ ไม่พึงกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ ไม่พึงแตะต้องของที่เจ้าของไม่ให้ ยินดีด้วยภริยาของตน ไม่พึงยินดีภริยาผู้อื่น และไม่พึงดื่มสุราเมรัย เครื่องยังจิตให้หลงใหล พึงระลึกถึงพระสัม-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 384

พุทธเจ้าเสมอ และพึงตรึกถึงพระธรรมเสมอ พึงอบรมจิต ให้ปราศจากพยาบาท อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวโลก ทักษิณาทานที่ผู้ต้องการบุญ แสวงหาบุญให้ แล้ว ในสัตบุรุษก่อน ในเมื่อไทยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทักษิณามีผลไพบูลย์.

ดูก่อนสารีบุตร เราจักบอกสัตบุรุษ ให้จงฟังคำของเรา ในบรรดาโค ดำ ขาว แดง หมอก พร้อย หม่น หรือแดงอ่อน ชนิดใดชนิดหนึ่ง โคที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นโคหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ตัวนั้น เป็นโคที่นำธุระไปได้ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินได้เรียบร้อยและเร็ว คนทั้งหลาย ย่อมเทียมโคตัวนั้น ในการขนภาระ ไม่คำนึงถึงสีของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ปุกกฺสะ บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุกๆ ชาติ คนผู้ที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตรดี ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วย หิริ ละชาติ และมรณะได้แล้ว อยู่จบ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 385

พรหมจรรย์ ปลงภาระลงแล้ว ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญใน ผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัด เป็นบุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์.

ส่วนคนพาลผู้ไม่รู้แจ้ง มีปัญญาทราม ไม่ได้สดับ ย่อมให้ทานในภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ ส่วนชนเหล่าใด ย่อมคบหาสัตบุรุษ ผู้มีปัญญาดี ได้รับยกย่องว่า เป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ ในพระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่ เทวโลก หรือพึงเกิดในตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้น เป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุ นิพพานโดยลำดับ.

จบคิหิสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 386

อรรถกถาคิหิสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในคิหิสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สํวุตกมฺมนฺตํ คือ มีการงานที่ป้องกันแล้ว. บทว่า อาภิเจตสิกานํ คือ อาศัยจิตสูง บทว่า ทิฏธมฺมสุขวิหารานํ ได้แก่ อยู่เป็นสุขในธรรมอันประจักษ์ คือ ในปัจจุบันนี้เอง. บทว่า อริยกนฺเตหิ ได้แก่ ศีลในมรรคผลที่พระอริยะทั้งหลายใคร่แล้ว. ท่านกล่าวศีล ๕ ว่า อริยธรรม ในบทว่า อริยธมฺมํ สมาทาย นี้. บทว่า เมรยํ วารุณึ ได้แก่ เมรัย ๔ อย่าง และสุรา ๕ อย่าง. บทว่า ธมฺมญฺจานุวิตกฺกเย ได้แก่ พึงตรึกโดยระลึกถึงโลกุตรธรรม ๙ อย่าง. บทว่า อพฺยาปชฺฌํ หิตํ จิตฺตํ ได้แก่ จิตประกอบด้วยพรหมวิหารมีเมตตา เป็นต้น อันหาทุกข์ มิได้. บทว่า เทวโลกาย ภาวเย ได้แก่ พึงเจริญเพื่อพรหมโลก. บทว่า ปุญฺตฺถสฺส ชิคึสโต ได้แก่ ผู้ต้องการบุญแสวงหาบุญอยู่. บทว่า สนฺเตสุ ได้แก่ ในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระตถาคต. บทว่า วิปุลา โหติ ทกฺขิณา ได้แก่ ทานที่ให้แล้วอย่างนี้ย่อมมีผลมาก. บทว่า อนุปุพฺเพน ได้แก่ โดยลำดับมีบำเพ็ญศีล เป็นต้น. บทที่เหลือ มีเนื้อความที่กล่าวไว้แล้วในติกนิบาต นั่นแล.

จบอรรถกถา คิหิสูตรที่ ๙