พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อารัญญกสูตร ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่า ๕ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39258
อ่าน  427

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 395

จตุตถปัณณาสก์

อรัญญวรรคที่ ๔

๑. อารัญญกสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่า ๕ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 395

อรัญญวรรคที่ ๔

๑. อารัญญกสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่า ๕ จำพวก

[๑๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน? คือ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑ มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะรู้ว่าเป็นวัตร อันพระพุทธเจ้า และสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงาม เช่นนี้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการ ด้วยข้อปฏิบัติ อันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธานสูงสุด และล้ำเลิศแห่งภิกษุ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใส ชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการ ด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศประเสริฐ เป็นประธานสูงสุด และล้ำเลิศแห่งภิกษุ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

จบอารัญญกสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 396

อรัญญวรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาอารัญญกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอารัญญกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา ความว่า ไม่รู้การสมาทาน ไม่รู้อานิสงส์ แต่อยู่ป่าเป็นวัตรโดยไม่รู้ เพราะตนเขลาเฉาโฉด. บทว่า ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต ความว่า ภิกษุตั้งอยู่ในความปรารถนาลามกอย่างนี้ว่า เมื่อเราอยู่ในป่า ชนทั้งหลายจักทำสักการะด้วยปัจจัย ๔ ด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร และจักยกย่องด้วยคุณทั้งหลายมีอาทิว่า ภิกษุนี้เป็นลัชชี ชอบสงัด ดังนี้ แล้วถูกความปรารถนาลามกนั้นนั่นแหละครอบงำ จึงเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร. อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอยู่ป่าโดยความบ้า ชื่อว่า ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน. บทว่า วณฺณิตํ ความว่า ชื่อว่า องค์แห่งภิกษุ ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้ายกย่องแล้ว คือ สรรเสริญแล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร. บทว่า อิทมตฺถิตํ ความว่า ชื่อว่า อิทมตฺถิ เพราะมีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติ อันงามนี้ ความเป็นผู้มีความต้องการ ชื่อว่า อิทมตฺถิตา อธิบายว่า อาศัยความเป็นผู้ความต้องการนั้นเท่านั้น มิได้อาศัยโลกามิสไรๆ อื่น. บทที่เหลือ ในสูตรนี้ และในสูตรนอกจากนี้ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถา อารัญญกสูตรที่ ๑

จบอรัญญวรรควรรณนาที่ ๔