พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. โทณสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ ๕ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39269
อ่าน  495

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 403

จตุตถปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๕

๒. โทณสูตร

ว่าด้วยพราหมณ์ ๕ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 403

๒. โทณสูตร

ว่าด้วยพราหมณ์ ๕ จำพวก

[๑๙๒] ครั้งนั้นแล โทณพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมา ดังนี้ว่า พระสมณโคดม ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญ ด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 404

ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนั้นเห็นจะเป็นเหมือนอย่างนั้น เพราะท่านพระโคดม ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ. ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนี้ไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโทณะ แม้ท่านก็ย่อมปฏิญาณว่า เป็นพราหมณ์มิใช่หรือ.

โท. ข้าแต่พระโคดม ผู้ใดเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวว่า เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์รู้จบไตรเทพ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ และเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะ เป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญ ในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนาย มหาปุริสลักษณะ ผู้นั้นเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงหมายซึ่งข้าพระองค์นั้นเทียว เพราะข้าพระองค์ เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุ และเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะ เป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์ โลกายะ และตำราทาย มหาปุริสลักษณะ.

พ. ดูก่อนโทณะ บรรดาฤาษี ผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมทัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบท มนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้น ย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวกนี้ คือ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์ผู้เสมอ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 405

ด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี และชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ห้า ๑ ดูก่อนโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น.

โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ แต่ข้าพระองค์รู้ว่า เป็นพราหมณ์เท่านั้น ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์ จะพึงรู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้.

พ. ดูก่อนโทณะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

โทณพราหมณ์ทูลรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนโทณะ ก็พราหมณ์ เป็นผู้เสมอด้วยพรหมอย่างไร? พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์ อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์ โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 406

มีใจประกอบด้วยกรุณา... ประกอบด้วยมุทิตา... ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เธอเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ นี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติพรหมโลก ดูก่อนโทณะ พราหมณ์ เป็นผู้ชื่อว่า เสมอด้วยพรหม อย่างนี้แล.

ดูก่อนโทณะ ก็พราหมณ์ เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างไร? พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจด ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครๆ จะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรม ไม่แสวงหาอย่างไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยา โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหา ด้วยการซื้อ ด้วยการขาย ย่อมแสวงหาพราหมณี เฉพาะที่เขายกให้ ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่ เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ด้วยสตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูก่อนโทณะ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรี มีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีครรภ์ไซร้ มาณพ หรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า เกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 407

พราหมณ์ จึงไม่สมสู่สตรีที่ลูกอ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน พราหมณีนั้น เป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตร หรือธิดาแล้ว จึงปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอเจริญฌาณทั้ง ๔ ประการ นี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูก่อนโทณะ พราหมณ์ เป็นผู้เสมอด้วยเทวดา อย่างนี้แล.

ดูก่อนโทณะ ก็พราหมณ์ เป็นผู้มีความประพฤติอย่างไร? พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยา โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ การขาย ย่อมแสวงหาพราหมณี เฉพาะผู้ที่เขายกให้ ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่ เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่สตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูก่อนโทณะ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 408

เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ย่อมสมสู่สตรี มีครรภ์ไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า เกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรี มีลูกอ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่ สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน พราหมณีนั้น ย่อมเป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว ปรารถนาความยินดี ในบุตรหรือธิดานั้น ครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาดำรงอยู่ ในความประพฤติดีของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด พราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ ในความประพฤติดีของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้แล ชาวโลกจึงเรียกว่า พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ดูก่อนโทณะ พราหมณ์ เป็นผู้มีความประพฤติดี อย่างนี้แล.

ดูก่อนโทณะ ก็พราหมณ์ เป็นผู้มีความประพฤติ ดีชั่วอย่างไร? พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหา โดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยา โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหาพราหมณี ผู้ที่เขายกให้ ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 409

ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นจักสานบ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดีบ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ล่วงละเมิดความประพฤติดีนั้น เป็นพราหมณ์ ไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดี ของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ล่วงละเมิด ความประพฤติดีนั้น เพราะเหตุดังนี้ พราหมณ์ชาวโลก จึงเรียกว่า ผู้มีความประพฤติดี และชั่ว ดูก่อนโทณะ พราหมณ์ เป็นผู้มีความประพฤติดี และชั่ว อย่างนี้แล.

ดูก่อนโทณะ ก็พราหมณ์ ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างไร? พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งผ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยกสิกรรมบ้าง ด้วยพาณิชยกรรมบ้าง ด้วยโครักขกรรมบ้าง ด้วยการเป็นนักรบบ้าง ด้วยการรับราชการบ้าง ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหาพราหมณีที่เขายกให้ ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่ พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นช่างจักสานบ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง พราหมณีนั้น เป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดี

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 410

บ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาสำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการงานทุกอย่าง พวกพราหมณ์ได้กล่าว กะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปฏิญาณว่า เป็นพราหมณ์เพราะเหตุไร จึงสำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการงานทุกอย่าง เขาได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนไฟ ย่อมไหม้สิ่งที่สะอาดบ้าง สิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง แต่ไฟย่อมไม่ติดด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ถ้าแม้พราหมณ์ สำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการงานทุกอย่างไซร้ แต่พราหมณ์ย่อมไม่ติด ด้วยการงานนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการงานทุกอย่าง เพราะเหตุดังนี้แล พราหมณ์ชาวโลก จึงเรียกว่า พราหมณ์จัณฑาล ดูก่อนโทณะ พราหมณ์ ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาล อย่างนี้แล.

ดูก่อนโทณะ บรรดาฤาษี ที่เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมทัคคิ ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้น ย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวก คือ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาล เป็นที่ห้า ๑ ดูก่อนโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น.

โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์ย่อมไม่ยัง แม้พราหมณ์จัณฑาลให้เต็มได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 411

ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ. ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้ เป็นต้นไป.

จบโทณสูตรที่ ๒

อรรถกถาโทณสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในโทณสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตฺวํปิ โน แก้เป็น ตฺวมฺปิ นุ แปลว่า แม้ท่านหนอ. บทว่า ปวตฺตาโร คือ ผู้สอน. บทว่า เยสํ คือ เป็นสมบัติของฤาษี เหล่าใด. บทว่า มนฺตปทํ ได้แก่ มนต์ คือ พระเวท นั่นเอง. บทว่า คีตํ ได้แก่ พวกโบราณพราหมณ์ ๑๐ คน มีอัฏฐกพราหมณ์ เป็นต้น สาธยายแล้ว ด้วยสรภัญญสมบัติ คือ เสียง. บทว่า ปวุตฺตํ ได้แก่ บอกกล่าว [สอน] แก่คนอื่น. บทว่า สมิหิตํ ได้แก่ รวบรวม คือ ทำให้เป็นกอง อธิบายว่า ตั้งไว้เป็นกลุ่มเป็นก้อน. บทว่า ตทนุคายนฺติ ความว่า บัดนี้พราหมณ์ทั้งหลาย ก็ขับสาธยายมนต์ ตามที่โบราณพราหมณ์เหล่านั้น ขับมาก่อน. บทว่า ตทนุภาสนฺติ ได้แก่ กล่าวมนต์นั้นตาม. บทนี้เป็นไวพจน์ของบทก่อน นั่นแล. บทว่า ภาสิตมนุภาสนฺติ ได้แก่ กล่าวตามที่พวกโบราณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวไว้. บทว่า สชฺฌายิตมนุสชฌายนฺติ ได้แก่ สาธยายตามที่พวก

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 412

โบราณพราหมณ์เหล่านั้น สาธยาย. บทว่า วาจิตมนุวาเจนฺติ ได้แก่ บอกตามที่พวกโบราณพราหมณ์เหล่านั้น บอกแก่ผู้อื่น.

บทว่า เสยฺยถีทํ ได้แก่ โบราณพราหมณ์เหล่านั้น มีใครบ้าง. บทว่า อฏฺฐุโก เป็นต้น เป็นชื่อของโบราณพราหมณ์เหล่านั้น. ได้ยินว่า โบราณพราหมณ์เหล่านั้น ตรวจดูด้วยทิพยจักษุแล้ว ไม่ทำการเบียดเบียนผู้อื่น เทียบปาพจน์ คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรียบเรียงมนต์ทั้งหลาย. แต่พราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ใส่กรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น เข้าไปทำลายพระเวท ๓ ทำให้ขัดแย้งกับพระพุทธพจน์เสีย.

บทว่า อสฺสุ ในบทว่า ตฺยาสฺสุเม นี้ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า พราหมณ์เหล่านั้น บัญญัติพราหมณธรรม ๕ เหล่านี้. บทว่า มนฺเต อธิยมาโน ได้แก่ ท่องเรียนพระเวททั้งหลาย. บทว่า อาจริยธนํ ได้แก่ ทรัพย์บูชาอาจารย์ คือ ทรัพย์อันเป็นส่วนบูชาอาจารย์. บทว่า น อิสฺสตฺเถน ได้แก่ ไม่ใช่ให้เกิดขึ้น ด้วยงานนักรบอาชีพ. บทว่า น ราชโปริเสน ได้แก่ ไม่ใช่ให้เกิดขึ้น ด้วยความเป็นข้าราชการ.

บทว่า เกวลํ ภิกฺขาจริยาย ได้แก่ เกิดขึ้นด้วยภิกขาจาร อันบริสุทธิ์ [ล้วนๆ] เท่านั้น. บทว่า กปาลํ อนติมญฺมาโน ได้แก่ ไม่ดูหมิ่น ภิกขาภาชนะ. ก็โทณพราหมณ์นั้น ถือภิกขาภาชนะใส่น้ำเต็มแล้ว สนานศีรษะ ไปยืนอยู่ที่ประตูของตระกูลทั้งหลาย ร้องขอว่า ข้าพเจ้าประพฤติโกมารพรหมจรรย์ (เป็นชายโสด) มาตลอด ๔๘ ปี ทั้งมนต์ข้าพเจ้าก็เรียนแล้ว ข้าพเจ้าจักให้ทรัพย์บูชาอาจารย์แก่อาจารย์ ขอท่านทั้งหลาย จงให้ทรัพย์แก่ข้าพเจ้าเถิด ดังนี้. พวกมนุษย์ได้ฟังดังนั้นต่างก็ให้ทรัพย์ ๘ กหาปณะบ้าง ๑๖ กหาปณะบ้าง ๑๐๐ กหาปณะบ้าง ตามกำลังสามารถ โทณพราหมณ์ เที่ยวไปขอทั่วหมู่บ้าน อย่างนี้แล้ว มอบทรัพย์ที่ได้ให้แก่อาจารย์. คำนั้นท่านกล่าวหมายถึง ภิกขาภาชนะนั้น.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 413

บทว่า เอวํ โข โทณพฺราหมฺโณ พฺรหฺมสโม โหติ ความว่า พราหมณ์เป็นผู้ชื่อว่าเสมอด้วยพรหม เพราะประกอบด้วยพรหมวิหารอย่างนี้. บทว่า เนว กเยน น วิกฺกเยน ได้แก่ ไม่ใช่ตนเองซื้อ ไม่ใช่ผู้อื่นขายให้. บทว่า อุทกูปสฏฺํ ได้แก่ ที่เขาหลั่งน้ำสละให้. โทณพราหมณ์นั้น ไปยืนอยู่ที่ประตูของตระกูล ที่มีหญิงสาววัยรุ่น เมื่อเขาถามว่าเหตุไร ท่านจึงยืนอยู่ พราหมณ์ตอบว่า ข้าพเจ้าประพฤติ โกมารพรหมจรรย์มา ๔๘ ปี ข้าพเจ้าจะให้ทุกสิ่ง ทุกอย่าง แก่ท่าน ขอท่านจงให้หญิงสาวแก่ข้าพเจ้าเถิด. พวกเขานำหญิงสาวมา แล้วหลั่งน้ำลงบนมือของพราหมณ์นั้นให้. โทณพราหมณ์นั้น รับหญิงสาวที่เขาหลั่งน้ำให้ เป็นภรรยาก็กลับไป.

บทว่า อติมิฬฺหโช ได้แก่ เกิดในที่สกปรกยิ่ง คือ กองคูถใหญ่. บทว่า ตสฺสสฺส ตัดบทเป็น ตสฺส เอตสฺส บทว่า น ทฺวตฺถา ได้แก่ ไม่ต้องการเล่น. บทว่า น รตตฺถา ได้แก่ ไม่ต้องการความยินดี ในกาม. บทว่า เมถุนํ อุปฺปาเทตฺวา ความว่า พราหมณ์ให้กำเนิดธิดา หรือบุตร แล้วคิดว่า บัดนี้ประเวณีจักสืบต่อไป จึงออกบวช. บทว่า สุคตึ สคฺคํ โลกํ นี้ ท่านกล่าวหมายถึง พรหมโลกเท่านั้น. บทว่า เทวสโม โหติ ได้แก่ เป็นผู้ชื่อว่าเสมอด้วยเทวดา เพราะประกอบด้วยทิพยวิหารธรรม. บทว่า ตเมว ปุตฺตสฺสาทํ นิกามยมาโน ความว่า พราหมณ์ปรารถนา คือ ต้องการความรักในบุตร ความพอใจในบุตรที่เกิดขึ้น เพราะเห็นธิดาหรือบุตรเกิด. บทว่า กุฏฺมฺพํ อชฺฌาวสติ ได้แก่ อยู่ท่ามกล่าง ทรัพยสมบัติ. บทที่เหลือในสูตรนี้ง่าย ทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถา โทณสูตรที่ ๒