๕. ปิงคิยานีสูตร ว่าด้วยรัตนะที่หายากยิ่ง ๕ ประการ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 428
จตุตถปัณณาสก์
พราหมณวรรคที่ ๕
๕. ปิงคิยานีสูตร
ว่าด้วยรัตนะที่หายากยิ่ง ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 428
๕. ปิงคิยานีสูตร
ว่าด้วยรัตนะที่หายากยิ่ง ๕ ประการ
[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ เจ้าลิจฉวีบางพวกเขียว มีวรรณะเขียว มีผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว บางพวกเหลือง มีวรรณะเหลือง มีผ้าเหลือง มีเครื่องประดับเหลือง บางพวกแดง มีวรรณะแดง มีผ้าแดง มีเครื่องประดับแดง บางพวกขาว มีวรรณะขาว มีผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรุ่งเรืองกว่า เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น โดยพระวรรณะและพระยศ ครั้งนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เนื้อความแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปิงคิยานี จงแจ่มแจ้งกะท่านเถิด
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 429
ครั้งนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ ได้ชมเชยต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถา โดยย่อว่า เชิญท่านดูพระอังคีรสผู้ทรงรุ่งโรจน์อยู่ เหมือนดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม ไม่ปราศจากกลิ่น บานอยู่ ณ เวลาเช้า และเหมือนพระอาทิตย์เปล่งรัศมี อยู่บนท้องฟ้า ฉะนั้น.
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้ให้ปิงคิยานีพราหมณ์ ห่มผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืน ปิงคิยานีพราหมณ์ ได้ทูลถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงครองผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะ เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า ดูก่อนเจ้า ลิจฉวี ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ หาได้ยากในโลก รัตนะ ๕ เป็นไฉน? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ บุคคลผู้แสดงธรรมวินัย ที่พระตถาคต ประกาศแล้ว ๑ บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่พระตถาคต ประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ๑ บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่พระตถาคต ประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑ ดูก่อนเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก.
จบปิงคิยานีสูตรที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 430
อรรถกถาปิงคิยานีสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในปิงคิยานีสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
คำว่า นีลา นี้รวมสีเขียวไว้ทั้งหมด. คำว่า นีลวณฺณา เป็นต้น แสดงการจำแนกสีเขียวนั้น. ในบทว่า นีลวณฺณา นั้นตามปกติวรรณของ กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น ไม่เขียว แต่ท่านกล่าวคำนั้น เพราะกษัตริย์เหล่านั้น ทาด้วยเครื่องทาสีเขียว. บทว่า นีลวตฺถา ได้แก่ แม้ผ้าเนื้อดี และผ้าไหม เป็นต้น ของกษัตริย์เหล่านั้น ก็เป็นสีเขียวทั้งนั้น. บทว่า นีลาลงฺการา ได้แก่ ประดับด้วยแก้วมณีเขียว และดอกไม้เขียว แม้เครื่องประดับช้าง ม้า รถ ม่าน เพดาน และเสื้อของกษัตริย์เหล่านั้น ก็เขียวทั้งหมด. พึงทราบเนื้อความ ในทุกบทโดยนัยนี้.
บทว่า ปทุมํ ยถา ได้แก่ เหมือนดอกปทุมสีแดงมี ๑๐๐ ใบ ฉะนั้น บทว่า โกกนุทํ เป็นไวพจน์ของคำว่า ปทุมํ นั้นนั่นแล. บทว่า ปาโต ได้แก่ เช้าตรู่ คือ ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น. บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี. บทว่า อวีตคนฺธํ ได้แก่ ไม่หายหอม. บทว่า องฺคีรสํ ความว่าพระรัศมี ซ่านจากพระวรกายน้อยใหญ่ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกพระอังคีรส บทว่า ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานี กล่าวว่า ท่านจงดูพระอังคีรสผู้รุ่งเรือง ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในอากาศ สามารถทำความสว่างในทวีปใหญ่ ๔ ทวีป ซึ่งมีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร พราหมณ์ปิงคิยานีกล่าวอย่างนี้ หมายถึง ตนเอง หรือมหาชน.
จบอรรถกถา ปิงคิยานีสูตรที่ ๕