ผู้มีศรัทธาเกิดได้ยาก

 
Witt
วันที่  29 ต.ค. 2564
หมายเลข  39284
อ่าน  469

พบว่า ผู้ใหม่ในการฟังธรรมบางท่านมักค้านพระธรรมที่ได้ฟังเสมอ ว่ายังเชื่อไม่ได้ ต้องไปค้นคว้าเพิ่ม หรือต้องฟังเทียบเคียงกับผู้แสดงธรรมท่านอื่นด้วย

ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความติดข้อง ความเป็นตัวตน และเสียเวลาในการฟังธรรม

กราบเรียนถามอาจารย์วิทยากร ถึงแนวทางในการเกื้อกูลบุคคลดังกล่าวให้เกิดศรัทธาในพระธรรมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม ความเห็นถูก ไม่สาธารณะกับทุกคน ครับ ดังนั้น ผู้ที่ไม่สนใจ ค้าน ก็แสดงว่าไม่ได้สะสมอุปนิยัยในความเข้าใจถูกเป็นธรรมดา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของกิเลส ที่มากไปด้วยความไม่รู้ ดังนั้น ธรรมจะทำหน้าที่ปรุงแต่งเองครับ ให้เกิดความเข้าใจถูกหรือไม่ หรือ มีความไม่รู้ สนใจหนทางที่ผิดต่อไป ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตา ครับ

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแต่ละคน ที่จะเข้าใจอนัตตาเพิ่มขึ้นว่า ธรรมมีปัจจัยปรุงแต่ง ปรุงแต่งจิต ให้สะสมมาแตกต่างกันไป ไม่มีใครทำอะไรธรรมได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดศรัทธา เกิดความเห็นถูก ธรรมก็จะจัดสรรให้เป็นไปอย่างนั้น เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยที่สะสมในจิตก็เป็นไปไม่ได้ จึงไม่มีใครจัดการธรรม จัดการบุคคลอื่นได้เลย ครับ ธรรมต้องเกิดตามเหตุปัจจัย

เหตุให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา คือ การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเกิดปัญญาของตนเอง ก็จะทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้้น และที่ละเอียดลงไปอีกในสภาพธรรมที่เป็นศรัทธา คือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่ดี เช่น กุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นกุศลทุกๆ ประการ คือ ทาน ศีล การฟังธรรม เจริญปัญญา มีศรัทธาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ยิ่งกุศลจิตเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ศรัทธาก็มีมากเท่านั้น กุศลจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเกิดขึ้นของปัญญา ก็กลับมาที่เหตุให้เกิดปัญญา และศรัทธา ก็คือการฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงเหตุให้เกิดศรัทธา เจริญขึ้นของศรัทธา ดังนี้

เรื่องเหตุให้เกิดศรัทธา

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก...

ตัณหาสูตร

..... แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร (เหตุ) มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง สำคัญที่ความเป็นผู้ตรง ความเป็นผู้ละเอียด เห็นประโยชน์ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งมีเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา ผู้ที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษา มีเป็นส่วนมาก
เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความสงสัย ความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย จึงไม่มีหนทางอื่นเลยจริงๆ นอกจากฟังพระธรรมให้เข้าใจ และ เมื่อเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์ที่จะให้บุคคลอื่นได้มีโอกาสได้เข้าใจด้วย ก็กล่าว แสดง เปิดเผยคำจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าผู้นั้นสะสมเหตุที่ดีมา ก็ได้ฟัง และ ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เป็นประโยชน์จริงๆ แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่สนใจ ใครจะทำอะไรได้ ก็เข้าใจถึงการสะสมของแต่ละบุคคล เราก็จะไม่เดือดร้อน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Witt
วันที่ 29 ต.ค. 2564

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่น

และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ