พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. พหุภาณีสูตร ว่าด้วยคุณและโทษของการพูด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ต.ค. 2564
หมายเลข  39297
อ่าน  416

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 466

ปัญจมปัณณาสก์

อักโกสกวรรคที่ ๒

๔. พหุภาณีสูตร

ว่าด้วยคุณและโทษของการพูด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 466

๔. พหุภาณีสูตร

ว่าด้วยคุณและโทษของการพูด

[๒๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ๕ ประการเป็นไฉน? คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการ นี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ไม่พูดเท็จ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการ นี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ.

จบพหุภาณีสูตรที่ ๔

อรรถกถาพหุภาณีสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในพหุภาณีสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พหุภาณิสฺมึ ได้แก่ ไม่กำหนดไว้ด้วยปัญญา ก็พูดมาก. ปัญญา เรียกว่า มันตา ใน บทว่า มนฺตภาณิสฺมึ ได้แก่ กำหนดด้วยปัญญา ที่เรียกว่า มันตาแล้วจึงพูด.

จบอรรถกถา พหุภาณีสูตรที่ ๔