พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ทุติยสาราณียสูตร ว่าด้วยสาราณียธรรม ๖ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39359
อ่าน  437

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 546

ปฐมปัณณาสก์

สาราณิยาทิวรรคที่ ๒

๒. ทุติยสาราณียสูตร

ว่าด้วยสาราณียธรรม ๖ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 546

๒. ทุติยสาราณียสูตร

ว่าด้วยสาราณียธรรม ๖ ประการ

[๒๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ เป็นที่ตั้งแห่งการให้ระลึกถึง กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง...

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งมโนกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง...

อีกประการหนึ่ง ภิกษุแบ่งปันลาภทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม แม้โดยที่สุดบิณฑบาต ย่อมบริโภคร่วมกัน กับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้มีศีล...

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง...

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 547

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก นำออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้กระทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงอันหนึ่งอันเดียวกัน.

จบทุติยสาราณียสูตรที่ ๒

อรรถกถาทุติยสาราณียสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในสาราณียสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

สาราณียธรรม ชื่อว่า ปิยกรณา เพราะกระทำผู้ที่บำเพ็ญธรรมเหล่านั้น ให้บริบูรณ์ ให้เป็นที่รัก ของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย. ชื่อว่า ครุกรณา เพราะกระทำให้เป็นผู้น่าเคารพ. บทว่า สงฺคหาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์. บทว่า อวิวาทาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การไม่ทำการวิวาทกัน. บทว่า สามคฺคิยา ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความสามัคคี. บทว่า เอกีภาวาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นอันเดียวกัน. บทว่า สํวตฺตนฺติ ได้แก่ ย่อมเป็นไป คือ เป็นไปทั่ว.

จบอรรถกถา ทุติยสาราณียสูตรที่ ๒