พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมมรณัสสติสูตร ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39366
อ่าน  480

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 570

ปฐมปัณณาสก์

สาราณิยาทิวรรคที่ ๒

๙. ปฐมมรณัสสติสูตร

ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 570

๙. ปฐมมรณัสสติสูตร

ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก

[๒๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปราสาท สร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ย่อมเจริญมรณสติ หรือเมื่อพระผู้มี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 571

พระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึง เป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่ง วันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็เจริญมรณสติ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอย่อมเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็เจริญมรณสติ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอย่อมเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็เจริญมรณสติ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 572

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอย่อมเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะ ที่เคี้ยวคำข้าวสี่คำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็เจริญมรณสติ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอย่อมเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็เจริญมรณสติ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ก็เธอย่อมเจริญมรณสติอย่างไร.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล.

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่ง วันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 573

โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะ ที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ และภิกษุใด ย่อมเจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะ ที่เคี้ยวคำข้าวสี่คำ กลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ประมาทเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า ส่วนภิกษุใดย่อมเจริญ มรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะ ที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ และภิกษุใด ย่อมเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย แรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาท จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล.

จบปฐมมรณัสสติสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 574

อรรถกถาปฐมมรณัสสติสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในปฐมมรณัสสติสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า นาทิเก ได้แก่ ในบ้านที่มีชื่ออย่างนี้. บทว่า คิญฺชกาวสเถ ได้แก่ ในปราสาทที่ก่อด้วยอิฐ. บทว่า อมโตคธา ได้แก่ หยั่งลงสู่พระนิพพาน อธิบายว่า เข้าสู่พระนิพพาน. บทว่า อโห วต เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ที่สุด. บทว่า ภาเวถ โน แปลว่า จงเจริญเถิด. บทว่า มรณสฺสตึ ได้แก่ มรณสติกัมมัฏฐาน. ศัพท์ว่า อโห วต เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ปรารถนา. บทว่า อหุ วต เม กตํ อสฺส ความว่า กิจของข้าพระองค์ ในศาสนาของพระองค์ พึงเป็นกิจที่ข้าพระองค์ กระทำให้มาก. บทว่า ตทนฺตรํ ความว่า ในระหว่างคือ ขณะ ได้แก่โอกาสนั้น. ในบทว่า อสฺสสิตฺวา วา ปสฺสสามิ นี้ ลมที่เข้าไปข้างใน ท่านเรียกว่า อัสสาสะ ลมที่ออกมาภายนอก ท่านเรียกว่า ปัสสาสะ. ภิกษุนี้ปรารถนาจะดำรงชีวิตอยู่ ชั่วเวลาที่ลมเข้าไปข้างใน กลับออกมาข้างนอก ลมที่ออกไปข้างนอก กลับเข้ามาข้างใน จึงได้ทูลอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ทนฺธํ ได้แก่ เป็นไปอ่อนๆ หนัก คือไม่เร็ว. บทว่า อาสวนํ ขยาย ได้แก่ เพื่อพระอรหัตตผล. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรณสติ ไปจนถึงพระอรหัตตผล.

จบอรรถกถา ปฐมมรณัสสติสูตรที่ ๙