พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39367
อ่าน  429

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 575

ปฐมปัณณาสก์

สาราณิยาทิวรรคที่ ๒

๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร

ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 575

๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร

ว่าด้วยการเจริญมรณสติมีผลมาก

[๒๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปราสาท สร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ก็มรณสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตาย เพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้ว ไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษ เพียงดังศาสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละใน กลางคืนยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอัน เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคล ผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 576

มีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะ หรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตราย แก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติ และปราโมทย์ ตามศึกษา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืน อยู่เถิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรา มีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้ว ไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษ เพียงศาสตราของเรา พึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น พึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละในกลางวัน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรม อันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเสมือนบุคคล ผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะ หรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 577

อันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติ และปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืน อยู่เถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

จบทุติยมรณัสสติสูตรที่ ๑๐

จบสาราณิยาทิวรรคที่ ๒

อรรถกถาทุติยมรณัสสติสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในทุติยมรณัสสติสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปฏิหิตาย แปลว่า ดำเนินไปแล้ว. บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ ความว่า ย่อมพิจารณาอย่างนี้. ในบทนี้ว่า โส มมสฺส อนฺตราโย ดังนี้ อันตรายมี ๓ อย่าง คือ อันตรายแห่งชีวิต ๑ อันตรายแห่งสมณธรรม ๑ อันตรายแห่งสวรรค์ อันตรายแห่งมรรค สำหรับผู้ทำกาลกิริยา ของปุถุชน ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสหมายถึง อันตรายทั้ง ๓ อย่างนั้นทีเดียว.

บทว่า พฺยาปชฺเชยฺย ความว่า พึงวิบัติไป ด้วยสามารถแห่งการไม่ย่อย เป็นต้น. บทว่า อธิมตฺโต แปลว่า มีกำลัง. ความพอใจ คือ ความเป็นผู้ใคร่ เพื่อจะทำ ชื่อว่า ฉันทะ. ความเพียรในการประกอบกิจ ชื่อว่า วายามะ. ความเพียรที่เป็นเหตุ แห่งความกระตือรือร้น ชื่อว่า อุตสาหะ ความเพียรที่เป็นเหตุให้ถึงพร้อม (สำเร็จ) ชื่อว่า อุสโสฬหิ. ความไม่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 578

ท้อถอย คือความไม่หดกลับ ชื่อว่า อัปปฏิวานี. คำที่เหลือในบททั้งปวง มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา ทุติยมรณัสสติสูตรที่ ๑๐

จบสาราณิยาทิวรรควรรณาที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสาราณียสูตร ๒. ทุติยสาราณียสูตร ๓. เมตตาสูตร ๔. ภัททกสูตร ๕. อนุตัปปิยสูตร ๖. นกุลสูตร ๗. กุสลสูตร ๘. มัจฉสูตร ๙. ปฐมมรณัสสติสูตร ๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร และอรรถกถา.