พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. นาคสูตร ว่าด้วยผู้ประเสริฐ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39390
อ่าน  415

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 644

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๑. นาคสูตร

ว่าด้วยผู้ประเสริฐ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 644

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๑. นาคสูตร

ว่าด้วยผู้ประเสริฐ

[๓๑๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว ตรัสเรียก ท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ มาเถิด เราจักเข้าไปยัง ปราสาทของมิคารมารดา ที่บุพพารามวิหาร เพื่อพักผ่อนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยัง ปราสาทของมิคารมารดา ที่บุพพารามวิหาร ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ มาเถิด เราจักไปยังท่าน้ำ ชื่อ บุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำ ชื่อ บุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงแล้ว เสด็จขึ้นมา ทรงนุ่งอันตรวาสก ได้ยืนผึ่งพระวรกายอยู่.

ก็สมัยนั้น พระเศวตกุญชรของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นมาจากท่าน้ำ ชื่อบุพพโกฏฐกะ เพราะเสียงดนตรีใหญ่ ที่เขาตีประโคม ก็มหาชนเห็นช้างนั้นแล้ว กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างของพระราชางามยิ่งนัก ช้างของพระราชาน่าดูนัก ช้างของพระราชาน่าเลื่อมใสนัก ช้างของพระราชามีอวัยวะสมบูรณ์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 645

เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระกาฬุทายีได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์เท่านั้นหรือหนอ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างเป็นสัตว์ประเสริฐหนอ หรือว่ามหาชน เห็นสัตว์บางอย่างแม้อื่น ที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ สัตว์นั้นประเสริฐหนอ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกาฬุทายี มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์บ้าง จึงได้กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างเป็นสัตว์ประเสริฐหนอ มหาชนเห็นม้าตัวใหญ่ สูงบ้าง โคตัวใหญ่ สูงบ้าง งูตัวใหญ่ ยาวบ้าง ต้นไม้ใหญ่ สูงบ้าง มนุษย์มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์บ้าง จึงได้กล่าวชมอย่างนี้ว่า ประเสริฐหนอ ดูก่อนกาฬุทายี อนึ่ง บุคคลใดไม่ทำความชั่ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้ประเสริฐ.

กา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยดี ดังนี้ว่า ดูก่อนกาฬุทายี อนึ่ง บุคคลใดไม่ทำความชั่ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้ประเสริฐ.

ท่านพระกาฬุทายี กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ ขออนุโมทนา พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้วนี้ ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 646

ข้าพระองค์ได้สดับ จากพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ ดังนี้ว่า มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า พระองค์ใด ผู้เป็นมนุษย์ ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไปในทางประเสริฐ ทรงยินดีในธรรม ที่ยังจิตให้เข้าไปสงบ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลาย ก็ย่อมนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ทรงออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ทรงบรรลุธรรม ที่ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด ทรงยินดีในธรรม อันเป็นที่ออกไปจากกามทั้งหลาย คล้ายทองคำ ที่พ้นแล้วจากหิน ฉะนั้น พระองค์เป็นผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์ คล้ายขุนเขาหิมวันต์ สูงกว่าภูเขาศิลาลูกอื่น ฉะนั้น พระองค์ผู้ทรงนามว่า นาคะ อันเป็นจริงนี้ เป็นผู้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง ผู้มีนามว่า นาคะ ข้าพระองค์จะขี้แจง ซึ่งความที่พระองค์ เป็นผู้เปรียบด้วยช้าง เพราะพระองค์ไม่ทรงทำความชั่ว มีโสรัจจะ และอวิหิงสา เป็นเท้าหน้าทั้งสองของพระองค์ ผู้เป็นเพียงดังช้างตัวประเสริฐ ตบะ และพรหมจรรย์ เป็นเท้าหลังทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 647

ของพระองค์ ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ อย่างยอดเยี่ยม มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มีปัญญาเป็นเศียร มีการสอดส่องธรรม เป็นปลายงวง มีธรรมเครื่องเผากิเลส เป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง พระองค์ทรงมีฌาน ทรงยินดีในผลสมาบัติ เป็นลมหายใจ ทรงมีจิตเข้าไปตั้งมั่นภายใน ทรงดำเนินไปก็มีจิตตั้งมั่น ทรงยืนอยู่ก็มีจิตตั้งมั่น ทรงบรรทมก็มีจิตตั้งมั่น แม้ประทับนั่งก็มีจิตตั้งมั่น ทรงสำรวมแล้ว ในทวารทั้งปวง นี้เป็นสมบัติของพระองค์ ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ย่อมเสวยสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่เสวยสิ่งที่มีโทษ ได้อาหาร และเครื่องนุ่งห่มแล้ว ทรงเว้นการสะสม ทรงตัดสังโยชน์น้อยใหญ่ ทรงตัดเครื่องผูกพันทั้งปวง จะเสด็จไปทางใดๆ ก็ไม่มีห่วงใยเสด็จไป ดอกบัวชื่อ บุณฑริก มีกลิ่นหอม น่ารื่นรมย์ใจ เกิดในน้ำ เจริญใน น้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ แม้ฉันใด พระองค์ ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐก็ฉันนั้น ทรงอุบัติขึ้นมาดีแล้วในโลก ก็ทรงเบิก

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 648

บานอยู่ในโลก อันตัณหา มานะ ทิฏฐิ ไม่ฉาบทาพระองค์ ให้ติดอยู่กับโลก เหมือน ดอกปทุมไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น ไฟกองใหญ่ลุกรุ่งโรจน์ ย่อมดับเพราะหมดเชื้อ ฉันใด พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ก็ฉันนั้น คือ เมื่อสังขารทั้งหลาย สงบแล้ว ก็เรียกกันว่า เสด็จนิพพาน ข้ออุปมา ที่ให้รู้เนื้อความแจ้งชัดนี้ อันวิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว พระอรหันต์ ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ อย่างยอดเยี่ยมทั้งหลาย ย่อมรู้แจ้งชัด ซึ่งพระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ซึ่งพระกาฬุทายี ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ แสดงไว้แล้ว พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ทรงปราศจากราคะ ทรงปราศจากโทสะ ทรงปราศจากโมหะ ทรงหาอาสวกิเลสมิได้ เมื่อทรงละสรีระ ก็ทรงหาอาสวกิเลสมิได้ จักเสด็จปรินิพพาน.

จบนาคสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 649

ธรรมิกวรรควรรณนาที่ ๕

อรรถกถานาคสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในนาคสูตรที่ ๑ แห่งธรรมิกวรรคที่ ๕ ดังต่อ ไปนี้ :-

คำว่า อายสฺมตา อานนฺเทน สทธึ นี้ พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก พระเถระว่า อานนท์ เรามาไปกันเถิด ดังนี้ แล้วเสด็จไป. ฝ่ายพระศาสดาบัณฑิตพึงทราบว่า อันภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น นั่นแหละ แวดล้อมแล้วได้เสด็จไปที่บุพพารามนั้น.

บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) อันภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น นั่นแล แวดล้อมแล้วเสด็จเข้าไป. บทว่า ปริสิญฺจิตฺวา นี้ เป็นคำโวหาร หมายความว่า ทรงสรงสนานแล้ว.

บทว่า ปุพฺพสทิสานิ กุรุมาโน ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมแล้ว ทรงถือเอาผ้าอุตราสงค์ ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ประทับยืนผินพระปฤษฏางค์ ให้โลกธาตุด้านทิศตะวันตก ผินพระพักตร์ ให้โลกธาตุด้านทิศตะวันออก ทำพระวรกายให้แห้งเหมือนก่อน โดยปราศจากน้ำ.

ฝ่ายภิกษุสงฆ์ลงตามที่นั้นๆ อาบน้ำแล้ว ได้ขึ้นมายืนล้อมพระศาสดา อย่างพร้อมพรัก สมัยนั้น พระอาทิตย์โคจรคล้อยต่ำลงไป ทางโลกธาตุด้านทิศตะวันตก คล้ายตุ้มหูทองแดงผสมทองคำ กำลังจะล่วงหล่นจากอากาศ ฉะนั้น. ทางด้านโลกธาตุทางทิศตะวันออก พระจันทร์ เหมือนมณฑลแห่งเงินที่บริสุทธิ์ ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 650

ในที่ตรงกลางโลกธาตุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นบริวาร ได้ประทับยืนเปล่งฉัพพรรณรังสี ฉายแสงสว่าง ณ ริมฝั่งแม่น้ำ บุพพโกฏฐกะ.

บทว่า เตน โข ปน สมเยน ฯเปฯ เสโต นาม คาโม ความว่า นาคคือช้างที่ได้นามอย่างนั้น (นามว่า เสตะ) เพราะมีสีขาว. บทว่า มหาตุริยตาฬิตวาทิเตน ได้แก่ ด้วยการประโคมดนตรี อย่างมโหฬาร.

ในบทว่า มหาตุริยตาฬิตวาทิเตน มีอธิบายว่า การประโคมครั้งแรก ชื่อว่า ตาฬิตะ การประโคมครั้งต่อไป ต่อจากครั้งแรกนั้น ชื่อว่า วาทิตะ

บทว่า ชโน ได้แก่ มหาชนผู้ประชุมกัน เพื่อดูช้าง. บทว่า ทิสฺวา เอวมาห ความว่า (มหาชน) เห็นช้างใหญ่นั้น อันนายควาญช้าง ให้อาบน้ำ ขัดสีอวัยวะน้อยใหญ่แล้ว ขึ้นมาพักไว้นอกฝั่ง ทำตัวให้สะเด็ดน้ำ แล้วเอาเครื่องประดับช้าง มาประดับให้ จึงกล่าวคำสรรเสริญว่า ผู้เจริญ ช้างนี้งามแท้หนอ. บทว่า กายูปปนฺโน ได้แก่ เข้าถึงด้วยความถึงพร้อม แห่งร่างกาย อธิบายว่า มีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์.

บทว่า อายสฺมา อุทายี ได้แก่ พระกาฬุทายีเถระ ผู้บรรลุ ปฏิสัมภิทา. บทว่า เอตทโวจ ความว่า (พระกาฬุทายีเถระ) เห็นมหาชนนั้น กล่าวสรรเสริญคุณของช้าง จึงคิดว่า ชนนี้กล่าวสรรเสริญคุณของช้าง ซึ่งบังเกิดในอเหตุกปฏิสนธิ แต่กลับไม่กล่าวสรรเสริญพระคุณของช้าง คือ พระพุทธเจ้า บัดนี้ เราจักกล่าวสรรเสริญพระคุณของช้าง คือ พระพุทธเจ้า เปรียบเทียบกับช้างตัวประเสริฐตัวนี้ ดังนี้ แล้วได้กล่าวคำมีอาทิว่า หตฺถิเมว นุ โข ภนฺเต.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 651

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหนฺตํ ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยทรวดทรง. บทว่า พรฺหนฺตํ ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยความใหญ่โต. บทว่า เอวมาห ได้แก่ กล่าวอย่างนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุที่นาคศัพท์ เป็นไปในช้างบ้าง ม้าบ้าง โคบ้าง งูบ้าง ต้นไม้บ้าง มนุษย์บ้าง ฉะนั้น จึงตรัสคำว่า หตฺถิมฺปิ โข เป็นต้น.

บทว่า อาคุํ ได้แก่ อกุศลธรรมที่ชั่วช้าลามก. บทว่า ตมหํ นาโคติ พฺรูมิ ความว่า เราตถาคต เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นนาค เพราะไม่ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ และอกุศลจิต ๑๒ ด้วยทวาร ๓ เหล่านี้. ก็บุคคลนี้ชื่อว่า เป็นนาค ด้วยความหมายนี้ คือไม่ทำความชั่ว.

บทว่า อิมาหิ คาถาหิ อนุโมทามิ ความว่า เราอนุโนทนา คือ ชื่นชมด้วยคาถา ๑๖ คาถา (แบ่งเป็นบท) ได้ ๖๔ บทเหล่านี้. บทว่า มนุสฺสภูตํ คือ เป็นมนุษย์อยู่แท้ๆ มิได้เข้าถึงความเป็นเทพ เป็นต้น. บทว่า อตฺตทนฺตํ ได้แก่ ฝึกแล้วด้วยตนเอง นั่นแล คือ มิได้ถูกบุคคลอื่น นำเข้าไปสู่การฝึก.

อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงฝึกแล้ว ในฐานะ ๖ เหล่านี้ คือ ทรงฝึก ทั้งทางตา ทั้งทางหู ทั้งทางจมูก ทั้งทางลิ้น ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ด้วยการฝึกด้วยมรรค ที่พระองค์ให้เกิดขึ้นเอง คือทรงสงบ คือดับ ได้แก่ ดับสนิท เพราะเหตุนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า อตฺตทนฺตํ ดังนี้.

บทว่า สมาหิตํ ได้แก่ ตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิทั้งสองอย่าง. บทว่า อิริยมานํ ได้แก่ อยู่. บทว่า พฺรหฺมปเถ ได้แก่ ในทางอันประเสริฐที่สุด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 652

คือ ในทางคืออมตนิพพาน. บทว่า จิตฺตสฺสูปสเม รตํ ได้แก่ ผู้ระงับนิวรณ์ ๕ ด้วยปฐมฌาน ระงับวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ระงับปีติด้วยตติยฌาน ระงับสุข และทุกข์ด้วยจตุตถฌาน แล้วยินดี คือยินดียิ่งในความสงบของจิตนั้น.

บทว่า นมสฺสนฺติ ได้แก่ นมัสการด้วยกาย นมัสการด้วยวาจา นมัสการด้วยใจ คือ นมัสการ ได้แก่ สักการะ ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. บทว่า สพฺพธมฺมาน ปารคํ ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ถึงฝั่ง คือบรรลุถึงความสำเร็จ คือถึงที่สุดแห่งธรรม คือขันธ์ อายตนะ ธาตุทั้งหมด ด้วยการถึงฝั่ง ๖ อย่าง คือ ทรงถึงฝั่งแห่งอภิญญา ทรงถึงฝั่งแห่งปริญญา ทรงถึงฝั่งแห่งปหานะ ทรงถึงฝั่งแห่งภาวนา ทรงถึงฝั่งแห่งการทำให้แจ้ง ทรงถึงฝั่งแห่งสมาบัติ.

บทว่า เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ ความว่า เทวดาผู้ประสบทุกข์ทั้งหลาย มีสุพรหมเทพบุตร เป็นต้น และเทวดาผู้ประสบสุข ซึ่งสถิตอยู่ในหมื่นจักรวาลทั้งหมด ทีเดียว ต่างพากันนมัสการพระองค์. ด้วยบทว่า อิติ เม อรหโต สุตํ พระกาฬุทายีเถระแสดงว่า ข้าพระองค์ได้สดับ ในสำนักของพระองค์ นั่นแล ผู้ได้โวหารว่า เป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุ ๔ อย่าง ดังพรรณนา มาฉะนี้.

บทว่า สพฺพสํโยชนาตีตํ ได้แก่ ผู้ข้ามพ้นสังโยชน์ ๑๐ ทั้งหมด. บทว่า วนา นิพฺพานมาคตํ ได้แก่ ผู้ออกจากป่า คือกิเลส มาถึง ได้แก่ บรรลุถึงนิพพาน ซึ่งไม่มีป่า คือเว้นจากป่า คือกิเลส. บทว่า กาเมหิ เนกฺขมฺมรตํ ความว่า การบรรพชา ๑ สมาบัติแปด ๑ อริยมรรคสี่ ๑ ชื่อว่า การออกจากกามทั้งหลาย เพราะออกไปแล้ว จากกามทั้งสองอย่าง (เทวดานมัสการ พระผู้มีพระภาคเจ้า) ผู้ยินดี คือ ยินดียิ่งในเนกขัมมะนั้น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 653

บทว่า มุตฺตํ เสลาว กาญฺจนํ ได้แก่ เหมือนกับทองที่พ้นไป จากธาตุ คือ ศิลา. บทว่า สพฺเพ อจฺจรุจิ ความว่า ผู้มีความงดงาม เป็นไปเหนือสรรพสัตว์ อธิบายว่า พระโสดาบัน ชื่อว่า ผู้มีความงดงามเหนือผู้อื่น เพราะมีความงดงามเหนือปุถุชน ผู้เกิดในภพที่ ๘ ไป พระสกทาคามี ชื่อว่า ผู้มีความงามเหนือ เพราะมีความงาม เป็นไปเหนือพระโสดาบัน ฯลฯ พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่า ผู้มีความงามเหนือ เพราะมีความงาม เป็นไปเหนือพระขีณาสพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า ผู้มีความงามเหนือ เพราะมีความงาม เป็นไปเหนือพระปัจเจกพุทธเจ้า.

บทว่า หิมวาญฺเ สิลุจฺจโย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมงามเหนือ (บุคคลอื่น ทั้งเทวดา และมนุษย์) เปรียบเหมือนภูเขาหลวงหิมพานต์ งามเหนือภูเขาอื่นๆ ฉะนั้น. บทว่า สจฺจนาโม ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) มีพระนามจริง คือ มีพระนามตามเป็นจริง ได้แก่ มีพระนามแท้อย่างนี้ว่า นาคะ เพราะไม่ทำความชั่วนั่นเอง.

บทว่า โสรจฺจํ ได้แก่ ผู้มีศีลที่สะอาด. บทว่า อวิหึสา ได้แก่ กรุณา และธรรมที่เป็นส่วนเบื้องต้นของกรุณา (เมตตา). บทว่า ปาทา นาคสฺส เต ทุเว ความว่า ธรรมทั้งสองนั้น เป็นพระบาทเบื้องหน้าของนาคะ คือพระพุทธเจ้า. บทว่า ตโป ได้แก่ การสมาทานวัตร. บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ศีลในอริยมรรค.

บทว่า จรณา นาคสฺส ตฺยาปเร ความว่า ตบะ และพรหมจรรย์ทั้งสองนั้น เป็นพระบาท นอกนี้ คือเป็นพระบาทเบื้องหลังของนาคะ คือ พระพุทธเจ้า. บทว่า สทฺธาหตฺโถ ได้แก่ ประกอบด้วยงวง ที่สำเร็จด้วยศรัทธา. บทว่า อุเปกฺขาเสตทนฺตวา ได้แก่ ประกอบด้วยงาขาวที่สำเร็จ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 654

ด้วยอุเบกขา มีองค์ ๖. บทว่า สติ คีวา ความว่า คอ เป็นที่ตั้งแห่งกลุ่มเส้นเอ็น ในอวัยวะน้อยใหญ่ของช้าง ฉันใด สติก็เป็นที่ตั้งแห่งธรรม มีโสรัจจะ เป็นต้น ของช้างคือพระพุทธเจ้า ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า สติ คีวา ดังนี้.

บทว่า สิโร ปญฺา ความว่า ศีรษะเป็นอวัยวะอันสูงสุดของนาคะ คือช้าง ฉันใด พระสัพพัญญุตญาณ ก็เป็นสิ่งสูงสุดของนาค คือพระพุทธเจ้า ฉันนั้น ด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้น ทรงทราบธรรมทั้งปวง ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น ด้วยเหตุนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า สิโร ปญฺา ดังนี้.

บทว่า วิมํสา ธมฺมจินฺตนา ความว่า นาคคือช้าง ชื่อว่า มีปลายงวง เป็นเครื่องพิจารณา ช้างนั้นพิจารณาถึงสิ่งที่แข็ง อ่อน และสิ่งของที่ควรเคี้ยวกิน ด้วยปลายงวงนั้น ต่อแต่นั้น ก็ละสิ่งของที่ควรละ คว้าเอาสิ่งของที่ควรคว้า ฉันใด การคิดถึงธรรม กล่าวคือ ญาณเครื่องกำหนดส่วนแห่งธรรม ชื่อว่า เป็น วีมํสา (ปัญญาเครื่องพิจารณา) ของนาค คือพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงรู้จัก ภัพพาภัพพบุคคล ด้วยญาณนั้น ด้วยเหตุนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า วีมํสา ธมฺมจินฺตนา ดังนี้.

บทว่า ธมฺมกุจฺฉิสมาตโป ความว่า สมาธิในจตุตถฌาน เรียกว่า ธรรม. การเผาผลาญกิเลส คือ กุจฺฉิ ชื่อวา กุจฉิสมาตปะ ได้แก่ ที่สำหรับเผาผลาญ (กิเลส) ธรรมอันเป็นที่เผาผลาญ (กิเลส) คือ ท้องของบุคคลนั้นมีอยู่ เหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่า มีธรรม เป็นที่เผาผลาญ คือท้อง. เพราะว่า ธรรมมีอิทธิวิธี เป็นต้นเหล่านั้น ย่อมสำเร็จแก่บุคคล ผู้ดำรงอยู่ในสมาธิ คือ จตุตถฌาน เพราะเหตุนั้น สมาธิในจตุตถฌานนั้น จึงเรียกว่า ธรรมที่เผาผลาญ คือ ท้อง.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 655

บทว่า วิเวโก ได้แก่ กายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก. ขนหาง ของช้างย่อมขับไล่แมลงวัน ฉันใด วิเวกของพระตถาคตย่อมขับไล่คฤหัสถ์ และบรรพชิต ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น วิเวกนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า ขนหาง.

บทว่า ฌายี แปลว่า ผู้มีปกติเพ่งด้วยฌาน ๒. บทว่า อสฺสาสรโต ความว่า ก็ผลสมาบัติของนาค คือ พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนลมหายใจเข้า และออกของช้าง พระพุทธเจ้าทรงยินดี ในผลสมาบัตินั้น อธิบายว่า เว้นจาก ผลสมาบัตินั้น ซึ่งเปรียบเหมือนลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็เป็นไปไม่ได้.

บทว่า สพฺพตฺถ สํวุโต ได้แก่ สำรวมแล้วในทุกทวาร. บทว่า อนวชฺชานิ ได้แก่ โภชนะที่เกิดขึ้นจากสัมมาอาชีวะ. บทว่า สาวชฺชานิ ได้แก่ โภชนะที่เกิดขึ้นด้วยมิจฉาอาชีวะ ๕ อย่าง.

บทว่า อณุํถูลํ ได้แก่ น้อยและมาก. บทว่า สพฺพํ เฉตฺวาน พนฺธนํ ได้แก่ ตัดสังโยชน์หมดทั้ง ๑๐ อย่าง. บทว่า น อุปลิปฺปติ โลเกน ความว่า ไม่ติดอยู่กับโลกด้วยเครื่องทำให้ติด คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ.

บทว่า มหคฺคินี ได้แก่ ไฟกองใหญ่. ในบทว่า วิญฺญูหิ เทสิตา นี้ มีความว่า พระกาฬุทายีเถระ บรรลุปฏิสัมภิทา เป็นวิญญูชน เป็นบัณฑิต (อุปมาทั้งหลาย) อันพระกาฬุทายีเถระนั้น แสดงไว้แล้ว.

บทว่า วิญฺายนฺติ มหานาคา นาคํ นาเคน เทสิตํ ความว่า นาค คือ พระขีณาสพ นอกนี้ จักรู้แจ้งนาค คือ พระพุทธเจ้าที่นาค คือพระอุทายีเถระ แสดงไว้แล้ว.

บทว่า สรีรํ วิชหํ ปรินิพฺพสฺสติ ความว่า นาค คือ พระพุทธเจ้า ทรงดับสนิทด้วยการดับกิเลส ณ โพธิบัลลังก์แล้ว จักเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 656

พระอุทายีเถระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา จบเทศนา โดยกล่าวสรรเสริญคุณ พระทศพลด้วยคาถา ๑๖ คาถา ด้วยบท ๖๔ บท ด้วยประการดังพรรณนามา ฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา. เวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ดื่มน้ำอมฤต (บรรลุธรรม) แล.

จบอรรถกถา นาคสูตรที่ ๑