พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อินทรียสังวรสูตร ว่าด้วยการสํารวมอินทรีย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39397
อ่าน  539

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 682

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๘. อินทรียสังวรสูตร

ว่าด้วยการสํารวมอินทรีย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 682

๘. อินทรียสังวรสูตร

ว่าด้วยการสำรวมอินทรีย์

[๓๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออินทรียสังวรไม่มี ศีลของภิกษุ ผู้มีอินทรียสังวรวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อศีลไม่มี สัมมาสมาธิของภิกษุ ผู้มีศีลวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุ ผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะของภิกษุ ผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุ ผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่ง และใบวิบัติ แม้สะเก็ดของต้นไม้นั้น ก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือกก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้กระพี้ก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้แก่นก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีลของภิกษุผู้มีอินทรียสังวรสมบูรณ์ ย่อมมีอุปนิสัยสมบูรณ์ เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิของภิกษุ ผู้มีศีลสมบูรณ์ ย่อมมีอุปนิสัยสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุ ผู้มีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมมีอุปนิสัยสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะของภิกษุ ผู้มียถาภูตญานทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมมีอุปนิสัยสมบูรณ์ เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุ ผู้มีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมมีอุปนิสัยสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่ง และใบสมบูรณ์ แม้สะเก็ดของต้นไม้นั้น ก็ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือกก็ถึงความบริบูรณ์ แม้กระพี้ก็ถึงความบริบูรณ์ แม้แก่นก็ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น.

จบอินทรียสังวรสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 683

อรรถกถาอินทรียสังวรสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอินทรียสังวรสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า หตูปนิสํ โหติ ความว่า ศีลที่มีอาศัย (อุปนิสัย) ถูกขจัดเสียแล้ว. บทว่า สีลวิปนฺนสฺส ได้แก่ ผู้มีศีลวิบัติ. บทว่า ยถาภูตํ าณทสฺสนํ ได้แก่ วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน. ในบทว่า นิพฺพิทา วิราโค นี้มีอธิบาย ดังต่อไปนี้.

วิปัสสนาที่มีกำลัง ชื่อ นิพพิทา อริยมรรค ชื่อ วิราคะ. ในบทว่า วิมุตฺติาณทสฺสนํ นี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ อรหัตตผล ชื่อ วิมุตติ ปัจจเวกขณญาณ ชื่อ ญาณทัสสนะ.

บทว่า อุปนิสฺสยสมฺปนฺนํ โหติ ความว่า ศีลมีที่อาศัยถึงพร้อมแล้ว. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง อินทรียสังวร อันเป็นเครื่องช่วยรักษาศีลไว้.

จบอรรถกถา อินทรียสังวรสูตรที่ ๘