พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. อานันทสูตร ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ของพระอานนท์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39398
อ่าน  437

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 683

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๙. อานันทสูตร

ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ของพระอานนท์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 683

๙. อานันทสูตร

ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ของพระอานนท์

[๓๒๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหา ท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงได้ฟังธรรม ที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมทั้งหลาย ที่เธอได้ฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 684

ที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจ ในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรม ที่ยังไม่ทราบชัด ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านพระอานนท์แล เป็นพหูสูต ขอเนื้อความแห่งธรรมข้อนั้น จงแจ่มแจ้งกะท่านพระอานนท์เถิด.

อา. ดูก่อนท่านสารีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังธรรม จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระสารีบุตร รับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมแสดงธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ย่อมบอกสอนธรรม ที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ย่อมทำการสาธยาย ธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา โดยพิสดาร ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาส ที่มีภิกษุผู้เถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ ย่อมเข้าไปหาภิกษุ ผู้เถระเหล่านั้น โดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้อย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยภาษิต ที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยาก ให้ง่ายแก่เธอ และย่อมบรรเทาความสงสัย ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีประการต่างๆ ดูก่อนท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยัง ไม่เคยฟัง ธรรมทั้งหลาย ที่เธอได้ฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจ ในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัด ธรรมที่ยังไม่ทราบชัด.

สา. ดูก่อนท่านอานนท์ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมี ได้มีแล้ว เรื่องนี้ ท่านอานนท์ได้กล่าวดีแล้ว และพวกผมจะทรงจำ ท่านพระอานนท์ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้ เพราะว่าท่านอานนท์ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 685

สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ท่านอานนท์ ย่อมแสดงธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ท่านอานนท์ ย่อมบอกสอนธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาแก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ท่านอานนท์ ย่อมทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา โดยพิสดาร ท่านอานนท์ ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจซึ่งธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา ท่านอานนท์ ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาส ที่มีภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ ท่านอานนท์ย่อมเข้าไปหา ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น โดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้ เป็นอย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยภาษิต ที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยาก ให้ง่ายแก่ท่านอานนท์ และย่อมบรรเทาความสงสัย ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีประการต่างๆ.

จบอานันทสูตรที่ ๙

อรรถกถาอานันทสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอานันทสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :

บทว่า กิตฺตาวตา ได้แก่ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร? บทว่า อสฺสุตญฺเจว ความว่า ธรรมที่ไม่เคยฟังมา ในกาลอื่น. บทว่า น สมฺโมสํ คจฺฉนฺติ ความว่า (ธรรมทั้งหลาย) ย่อมไม่ถึงความเสื่อมสิ้นไป. บทว่า เจตสา สมฺผุฏฺปุพฺพา ความว่า (ธรรมทั้งหลาย) ที่เคยสัมผัสด้วยจิต. บทว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ เที่ยวไปในมโนทวาร. บทว่า อวิญฺาตญฺจ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 686

วิชานาติ ความว่า รู้จักเหตุ ที่ยังไม่รู้มา ในกาลอื่น. บทว่า ปริยาปุณาติ ได้แก่ ใช้สอย คือ กล่าว. บทว่า เทเสติ คือ ประกาศ. บทว่า ปรํ วาเจติ คือ สอนบุคคลอื่นให้เรียน. บทว่า อาคตาคมา ความว่า พระเถระทั้งหลายชื่อว่า ผู้มีอาคมอันตนบรรลุแล้ว เพราะหมายความว่า ผู้บรรลุอาคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาคม (นิกาย) ทั้งหลาย มีคัมภีร์ทีฆนิกาย เป็นต้น. บทว่า ธมฺมธรา ได้แก่ พระเถระทั้งหลาย ผู้ทรงพระสุตตันตปิฎก. บทว่า วินยธรา ได้แก่ พระเถระทั้งหลาย ผู้ทรงวินัยปิฏก. บทว่า มาติกาธรา ได้แก่ พระเถระทั้งหลาย ผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ทั้งสอง. บทว่า ปริปุจฺฉติ ได้แก่ ถามถึงเบื้องต้น และเบื้องปลายของอนุสนธิ. บทว่า ปริปญฺหติ ได้แก่ ใคร่ ครวญ คือ กำหนดว่า เราจักถามสิ่งนี้ และสิ่งนี้.

บทว่า อิทํ ภนฺเต กถํ ความว่า ภิกษุย่อมถามว่า เบื้องต้น และเบื้องปลายของอนุสนธินี้ เป็นอย่างไร? บทว่า อิมสฺส กวตฺโถ ความว่า ภิกษุย่อมถามว่า ภาษิตนี้มีความหมาย เป็นอย่างไร บทว่า อวิวฏํ ได้แก่ ธรรมที่ยังไม่เปิดเผย. บทว่า วิวรนฺติ ได้แก่ ทำให้เปิดเผย. บทว่า กงฺขาฏฺานีเยสุ ได้แก่ ในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุ แห่งความสงสัย. ในบทว่า กงฺขาฏฺ านีเยสุ นั้นพึงทราบความว่า ความสงสัยเกิดขึ้นในธรรมใด ธรรมนั้นแหละ ชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย.

จบอรรถกถา อานันทสูตรที่ ๙