พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร ว่าด้วยความประสงค์ของคน ๖ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39399
อ่าน  515

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 687

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร

ว่าด้วยความประสงค์ของคน ๖ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 687

๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร

ว่าด้วยความประสงค์ของคน ๖ จำพวก

[๓๒๓] ครั้งนั้น ชาณุสโสณิพราหมณ์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการในการได้แผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็คฤหบดีทั้งหลาย ย่อมมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจในอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาคฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้ว เป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็สตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจในอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 688

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาสตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้าน เป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็โจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาโจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับเร้น มั่นใจในศาสตรา ต้องการที่มืด มีการที่ผู้อื่นไม่เห็นเขา เป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็สมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจในอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติโสรัจจะ นิยมปัญญา มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพาน เป็นที่สุด.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมี ได้มีแล้ว คือท่านพระโคดมย่อมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการ และสิ่งที่เป็นที่สุด แม้แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งพราหมณ์ทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งคฤหบดีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งสตรีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งโจรทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการ และสิ่งที่เป็นที่สุด แม้แห่งสมณะทั้งหลาย ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป.

จบขัตติยาธิปปายสูตรที่ ๑๐

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 689

อรรถกถาขัตติยาธิปปายสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในขัตติยาธิปปายสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โภคาธิปฺปายา ความว่า กษัตริย์ทั้งหลายตั้งพระประสงค์ไว้ คือ มีอัธยาศัยเป็นไปเพื่อรวบรวมโภคะ.

บทว่า ปญฺญูปวิจารา ความว่า กษัตริย์ทั้งหลายมีการพิจารณา เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ปัญญาอย่างนี้ว่า ขอเราทั้งหลายพึงเป็นผู้มีปัญญา. การพิจารณานี้แลของกษัตริย์เหล่านั้น ย่อมเที่ยวไปในจิต.

บทว่า พลาธิฏฺานา ความว่า กษัตริย์ทั้งหลาย มีพระวรกายที่มีกำลัง เป็นที่ตั้ง. เป็นความจริง กษัตริย์เหล่านั้น ได้ร่างกายที่มีกำลังแล้ว ชื่อว่า ได้ที่พึ่ง.

บทว่า ปวีอภินิเวสา ความว่า กษัตริย์ทั้งหลาย ทำการตั้งพระทัยมั่น เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน อย่างนี้ว่า เราจักเป็นเจ้าของแผ่นดิน.

บทว่า อิสฺสริยปริโยสานา ความว่า กษัตริย์ทั้งหลาย มีรัชดาภิเษก (การอภิเษกเป็นพระราชา) เป็นที่สุด เป็นความจริง กษัตริย์เหล่านั้น ได้รับการอภิเษกแล้ว ชื่อว่า ถึงที่สุด. พึงทราบความหมาย ในบททั้งปวง โดยนัยนี้.

ส่วนในบทที่เหลือ ในสูตรนี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ มีอันดับแรก พราหมณ์ทั้งหลายได้มนต์แล้ว ชื่อว่า ได้ที่พึ่ง. คฤหบดีทั้งหลาย ได้ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ชื่อว่าได้ที่พึ่ง. หญิงทั้งหลายได้บุตร ซึ่งเป็นเจ้าของมรดก ในตระกูล ชื่อว่า ได้ที่พึ่ง. โจรทั้งหลาย ได้ศัสตราวุธ ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 690

ได้ที่พึ่ง. สมณะทั้งหลาย มีศีลบริบูรณ์ ชื่อว่า ได้ที่พึ่ง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสบททั้งหลาย มีบทว่า มนฺตาธิฏฺานา เป็นต้นไว้. อนึ่ง จิตของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมยึดมั่นว่า เราทั้งหลายจักบูชายัญ ครั้นเมื่อได้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่า ถึงที่สุด เพราะเหตุนั้น พราหมณ์เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มียัญเป็นที่ยึดมั่น มีพรหมโลกเป็นที่สุด. คฤหบดีทั้งหลาย ชื่อว่า มีการงานเป็นที่ยึดมั่น เพราะเหตุที่มีใจยึดมั่น เพื่อต้องการที่จะทำการงาน เมื่อการงานเสร็จแล้ว คฤหบดีทั้งหลาย ชื่อว่า ถึงที่สุด เพราะเหตุนั้น คฤหบดีทั้งหลาย จึงชื่อว่า มีการงานที่เสร็จแล้ว เป็นที่สุด.

บทว่า ปุริสาธิปฺปายา ได้แก่ (หญิงทั้งหลาย) มีอัธยาศัย เป็นไปในบุรุษทั้งหลาย. หญิงชื่อว่า มีใจฝักใฝ่ในเครื่องประดับ เพราะเหตุที่มีใจมุ่งหมาย เพื่อต้องการเครื่องประดับ. หญิงชื่อว่า ไม่มีหญิงร่วมผัวเป็นที่ยึดมั่น เพราะเหตุที่มีจิตยึดมั่นอย่างนี้ว่า ขอเราอย่าได้เป็นหญิงร่วมผัว (กับหญิงอื่น) ขออยู่ (เป็นใหญ่) แต่ผู้เดียวเท่านั้นในเรือน. หญิงชื่อว่า มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด เพราะเหตุที่ เมื่อได้ความเป็นใหญ่ ในการครองเรือน ก็นับว่าถึงที่สุดแล้ว.

โจรทั้งหลาย ชื่อว่า มีความช่วงชิงเป็นที่ประสงค์ เพราะเหตุที่มีความประสงค์ ในการช่วงชิงเอาทรัพย์ สิ่งของ ของบุคคลอื่น. โจรทั้งหลาย ชื่อว่า สนใจในป่าชัฏ เพราะเหตุที่มีใจท่องเที่ยวไป ในป่าชัฏ คือ ในที่สำหรับหลบซ่อน. โจรทั้งหลาย ชื่อว่า มีความมืดเป็นที่ยึดมั่น เพราะเหตุที่ มีใจยึดมั่น เพื่อต้องการความมืด. โจรทั้งหลาย ชื่อว่า มีการมองไม่เห็นเป็นที่สุด เพราะเหตุที่ (เมื่อ) ถึงภาวะที่ไม่มีใครมองเห็น ก็นับว่า ถึงที่สุดแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 691

สมณะทั้งหลาย ชื่อว่า มีขันติ และโสรัจจะ เป็นที่ประสงค์ เพราะเหตุที่มีความประสงค์ ในอธิวาสนขันติ และในศีล ซึ่งมีความสะอาดเป็นภาวะ. สมณะทั้งหลาย ชื่อว่า ไม่มีอะไรเป็นที่ยึดมั่น เพราะเหตุที่ มีใจยึดมั่น ในความไม่มีอะไร คือ ในภาวะที่ไม่มีการยึดถือ. สมณะทั้งหลาย ชื่อว่า มีนิพพานเป็นที่สุด เพราะเหตุที่ (เมื่อ) บรรลุนิพพาน ก็นับว่า ถึงที่สุดแล้ว.

จบอรรถกถา ขัตติยาธิปปายสูตรที่ ๑๐