พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อนิจจสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39486
อ่าน  517

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 31

ปฐมปัณณาสก์

อนุสยวรรคที่ ๒

๖. อนิจจสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 31

๖. อนิจจสูตร

[๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีความสำคัญว่าไม่เที่ยง ทั้งรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง ตั้งใจมั่นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้เป็นบุคคลที่ ๑ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ ความสิ้นอาสวะและความสิ้นชีวิตของเขา ไม่ก่อนไม่หลังกัน นี้เป็นบุคคลที่ ๒ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาจักปรินิพพานในระหว่าง นี้เป็นบุคคลที่ ๓ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 32

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาจักปรินิพพานในเมืออายุเลยกึ่ง นี้เป็นบุคคลที่ ๔ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาจักปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก นี้เป็นบุคคลที่ ๕ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาจักปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง นี้เป็นบุคคลที่ ๖ เป็นผู้ควรของคำนับ ... เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีความสำคัญว่าไม่เที่ยง ทั้งรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง ตั้งใจมั่นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาเป็นผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ นี้เป็นบุคคลที่ ๗ เป็นผู้ควร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 33

ของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

จบ อนิจจสูตรที่ ๖

อรรถกถาอนิจจสูตรที่ ๖

อนิจจสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บุคคลชื่อว่า อนิจานุปัสสี เพราะตามเห็นขยายไปด้วยปัญญาอย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง. บุคคลชื่อว่า อนิจจสัญญี เพราะมีความสำคัญอย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง. บุคคลชื่อว่า อนิจจปฏิสังเวที เพราะรู้ชัดด้วยญาณ (ปัญญา) อย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง. บทว่า สตตํ ได้แก่ ทุกกาล. บทว่า สมิตํ ความว่า จิตดวงหลังถึงแล้ว คือเข้าถึงแล้ว สืบต่อกับจิตดวงก่อนอย่างใด จิตดวงก่อนก็สืบต่อกับจิตดวงหลังอย่างนั้น. บทว่า อพฺโพกิณฺณํ ความว่า ต่อกันไม่ขาดระยะ คือไม่เจือปนด้วยจิตดวงอื่น. บทว่า เจตสา อธิมุจฺจมาโน ได้แก่ น้อมใจไป. บทว่า ปญฺาย ปริโยคาหมาโน ได้แก่ ตามเข้าไปด้วยวิปัสสนาญาณ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 34

บทว่า อปุพฺพํ อจริมํ ได้แก่ ไม่ก่อนไม่หลัง คือในขณะเดียวกันนั่นเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสมสีสีบุคคลไว้ในพระสูตรนี้.

สมสีสีบุคคลนั้น มี ๔ จำพวก คือ โรคสมสีสี เวทนาสมสีสี อิริยาปถสมสีสี และชีวิตสมสีสี. บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดถูกโรคอย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว โรคสงบระงับ และอาสวะสิ้นไปโดยคราวเดียวกันนั่นเอง บุคคลนี้ชื่อว่าโรคสมสีสี. ส่วนบุคคลใดเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวทนาสงบระงับไป และอาสวะสิ้นไปในคราวเดียวกันนั่นเอง บุคคลนี้ชื่อเวทนาสมสีสี. ส่วนบุคคลใดพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการยืน เป็นต้น เห็นแจ้งอยู่ อริยาบถสิ้นสุด และอาสวะสิ้นไปโดยขณะเดียวกันนั่นเอง บุคคลนี้ชื่อว่าอิริยาปถสมสีสี. ส่วนบุคคลใด พยายามฆ่าตัวตายหรือทำสมณธรรมอยู่ ชีวิตสิ้นไป และอาสวะก็สิ้นไปโดยขณะเดียวนี้นั่นเอง บุคคลนี้ชื่อว่าชีวิตสมสีสี. ชีวิตสมสีสีบุคคลนี้ ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้. ในชีวิตสมสีสีบุคคลนั้นมีอธิบายว่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะย่อมมีได้ด้วยมรรคจิต ความสิ้นสุดแห่งชีวิตย่อมมีได้ด้วยจุติจิตก็จริง ถึงกระนั้น ชื่อว่าความเกิดพร้อมแห่งธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะและการสิ้นสุดแห่งชีวิต ทั้ง ๒ อย่างย่อมมีในขณะเดียวกันไม่ได้. ก็เพราะเหตุที่พออาสวะของชีวิตสมสีสีบุคคลนั้นสิ้นไป ความสิ้นสุดแห่งชีวิตก็มาถึงในลำดับวาระแห่งปัจจเวกขณะทีเดียว ไม่ปรากฏช่องว่าง ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 35

บทว่า อนฺตราปรินิพฺพายี นี้เป็นชื่อของพระอนาคามีบุคคลผู้เกิดในภูมิใดภูมิหนึ่ง บรรดาสุทธาวาสภูมิทั้ง ๕ หรือเลยไปหน่อยหนึ่งหรือยังตั้งอยู่ตรงกลาง. ในขณะที่บังเกิดแล้วบรรลุพระอรหัต. บทว่า อุปหจฺจปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลล่วงเลยกลางอายุขัยแล้วจึงบรรลุพระอรหัตในสุทธาวาสภูมินั่นเอง. บทว่า อสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลผู้ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปโดยไม่ต้องกระตุ้นเตือน ไม่ต้องกระทำความพากเพียรของบุคคลเหล่านั้นทั้งนั้น. บทว่า อสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลผู้ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปโดยต้อง กระตุ้นเตือน ต้องมีความพยายาม. บทว่า อุทฺธํโสโตอกนิฏฐคามี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลผู้บังเกิดในสุทธาวาสภูมิชั้นต่ำ ๔ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง จุติจากภูมินั้นแล้วเกิดในอกนิฏฐภูมิโดยลำดับ แล้วบรรลุพระอรหัต.

จบ อรรถกถาอนิจจสูตรที่ ๖